ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน (Disruption) จากอิทธิพลของทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นให้เลือกใช้งานหลากหลายรอบตัว และการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด-19 ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนมาถึงมิติของการทำงานและการดำเนินธุรกิจ องค์กรธุรกิจที่เคยเตรียมกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) แบบค่อยเป็นค่อยไปในลักษณะโครงการริเริ่ม อาจต้องกลับมาทบทวนแผนงานเพื่อคิดใหม่ ทำใหม่
บริษัท ดีลอยท์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลก ได้เผยแพร่รายงาน “Tech Trend 2022” โดยระบุถึง 3 ส่วนหลักๆ ของกระบวนการทำงานที่องค์กรต้องเร่งปรับเปลี่ยน เพื่อเห็นการเปลี่ยนแปลงและตอบโจทย์ความคาดหวังทั้งของลูกค้า ผู้บริหาร ทีมเทคโนโลยี และพนักงานขององค์กร ตลอดจนเพื่อ “นำหน้า” คู่แข่งหน้าเดิมๆ และมีศักยภาพต่อสู้และเอาชนะคู่แข่งใหม่ๆ
“คงเป็นการพูดแบบผิดๆ ถ้าบอกว่าการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ต้องเร่งปรับตัว เพราะการปรับเปลี่ยนที่ต้องทำเหล่านี้ ความจริงถูกกำหนดไว้ในแผนการปรับองค์กรสู่ Digital Transformation อยู่แล้ว เพียงแต่ Covid-19 disruption เข้ามาเป็นตัวเร่งการปรับกระบวนการทำงานสู่ดิจิทัลให้เห็นผลเป็นรูปธรรมได้เร็วขึ้น ต้องทำตั้งแต่วันนี้ จากเดิมที่อาจถูกมองว่าเป็นการริเริ่มโครงการนำร่องเพื่อหวังผลในอีก 5-10 ปีข้างหน้า” ผู้บริหารของดีลอยท์ระบุไว้ในรายงานฉบับนี้
3 ภาคส่วนในองค์กรที่ต้อง Go Digital
รายงาน “Tech Trend 2022” ของดีลอยท์ได้สำรวจรูปแบบต่างๆ ที่องค์กรธุรกิจนำมาใช้ในการปรับกระบวนการทำงานทั้งการทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ หรือการทำงานแบบ Outsource เพื่อเพิ่มพลังและขีดความสามารถของเครื่องมือทางเทคโนโลยีได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อที่องค์กรธุรกิจจะติดอาวุธการทำงานให้กับพนักงาน เสริมสร้างศักยภาพในด้านพัฒนา นวัตกรรมเพื่อสร้างความแตกต่างทางการแข่งขันได้อย่างเต็มที่ และถ้าลงมือทำตั้งแต่วันนี้ จะเห็นผลกระทบต่อธุรกิจเชิงรูปธรรมได้อีก 18 -24 เดือนข้างหน้า
สำหรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่กระบวนการทำงานแบบดิจิทัลดังกล่าว มุ่งเน้นไปที่ 3 ส่วนหลัก ได้แก่
การพัฒนาองค์กรให้ก้าวหน้า เพื่อให้ธุรกิจแข็งแกร่งและคงความได้เปรียบในการแข่งขัน การใช้เครื่องมือเทคโนโลยีที่ทรงพลัง เช่น ข้อมูล คลาวด์ ตลอดจนเทคโนโลยีด้านการรักษาความปลอดภัย ช่วยให้องค์กรสามารถสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ซึ่งเทรนด์ของเทคโนโลยีเทรนด์ในกลุ่มนี้ ประกอบด้วย
1. การแบ่งปันข้อมูลที่ทำได้ง่ายขึ้น มีหลายเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะทำให้กลไกการแบ่งปันข้อมูลง่ายขึ้นทั้งข้ามส่วนงานต่างๆ ในองค์กร และระหว่างองค์กร โดยยังคงปกปิดความเป็นส่วนตัว ซี่งองค์กรธุรกิจสามารถปลดล็อคข้อจำกัดในการเข้าไปใช้ประโยชน์จากข้อมูลละเอียดอ่อนของตัวเอง รวมถึงการใช้ประโยชน์จากข้อมูลจำนวนมหาศาลที่หลั่งไหลเข้ามาจากภายนอก เก็บเกี่ยวโอกาสใหม่ๆ ในยุคที่ทุกสิ่งถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูล อีกทั้ง ความสามารถในการแบ่งปันข้อมูลที่ปลอดภัยกับผู้อื่นภายในระบบนิเวศ หรือ value chain จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโมเดลธุรกิจและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น
2. คลาวด์ขยายตัวในแนวดิ่ง จุดศูนย์กลางของการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน เปลี่ยนจากการตอบสนองความต้องการทางไอที มาเป็นการตอบรับความต้องการในการดำเนินงานเชิงกลยุทธ์ของแต่ละส่วนงานทางธุรกิจขององค์กร หรือแม้กระทั่งลงไปในกลุ่มย่อย ผู้ให้บริการคลาวด์ขนาดใหญ่ (Hyper scalers) ตลอดจนผู้ให้บริการแบบ SaaS ผนึกกำลังกับซิสเต็ม อินทิเกรเตอร์ (SI) และลูกค้าทั่วโลกเพื่อให้บริการทางธุรกิจในแบบโมดูลาร์ที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละกลุ่มธุรกิจ ช่วยให้ธุรกิจสามารถนำไปใช้สร้างความแตกต่างเฉพาะตัวได้อย่างรวดเร็ว
ในอีก 18-24 เดือนข้างหน้า เป็นที่คาดว่าจะเห็นองค์กรธุรกิจจำนวนมากในทุกภาคส่วน เริ่มหาวิธีที่ระบบคลาวด์ในอุตสาหกรรม สามารถช่วยตอบโจทย์ที่จะตอบสนองความต้องการเฉพาะกลุ่มในแนวดิ่ง (Vertical) จากการวิเคราะห์ของดีลอยท์ มูลค่าตลาดคลาวด์ในอุตสาหกรรมจะสูงถึง 640 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใน 5 ปีข้างหน้า
3. บล็อคเชนพร้อมแล้วสำหรับธุรกิจ ในเวลานี้ เรื่องของสกุลเงินคริปโต และเรื่องของตลาด NFT ตลอดจนเทคโนโลยีการกระจายศูนย์ (DLT) กำลังเป็นที่สนใจและสามารถสร้างกระแสในกลุ่มองค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะ บล็อคเชน และแพลตฟอร์ม DLT ซึ่งเป็นที่คุ้นเคยกันมาระยะหนึ่งแล้วนั้น กำลังมุ่งไปสู่กระบวนการขับเคลื่อนประสิทธิผลที่แท้จริง
จากผลการสำรวจ Global Blockchain Survey ประจำปี 2021 ราว 80% ระบุว่าอุตสาหกรรมต่างๆ จะมองเห็นแหล่งรายได้ใหม่จากบล็อคเชน สินทรัพย์ดิจิทัล และโซลูชั่นด้านคริปโตเคอเรนซี การใช้จ่ายทั่วโลกจะเพิ่มสูงขึ้น โดยบริษัทวิจัยแห่งหนึ่งคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 5.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2021 ไปแตะ 34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2026
การเพิ่มประสิทธิภาพทางไอที จะเห็นความแรงของเทรนด์การนำเอาระบบอัตโนมัติ (Automation) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) เข้ามาใช้กับกระบวนการทำงานภายในองค์กร ช่วยให้กลุ่มคนที่เป็นทาเล้นท์ทางด้านไอที สามารถมุ่งความสนใจไปกับโครงการเชิงกลยุทธ์ ขณะเดียวกัน สามารถการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
4. ระบบไอที : การเปลี่ยนแปลงตัวเองโดยสิ้นเชิง และระบบอัตโนมัติที่ยืดหยุ่น เมื่อความซับซ้อนทางเทคโนโลยีเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับความคาดหวังด้านความเสถียรและความพร้อมใช้งานที่สูงขึ้นตาม ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง หรือ CIO จึงหันมาปรับโครงสร้างองค์กรไอทีใหม่อย่างสิ้นเชิง ด้วยการใช้คู่มือของผู้ให้บริการคลาวด์ ผู้บริหารพิจารณาแยกแยะการทำงานในรายละเอียดตัดสิ่งที่ซ้ำซ้อน แล้วนำเอาการผสานการทำงานของระบบอัตโนมัติกับการให้บริการด้วยตัวเอง (Self-Service) มาใช้งาน ผลลัพธ์ที่ได้คือความคล่องตัว การส่งมอบที่รวดเร็ว รวมถึงระบบไอทีที่มีประสิทธิภาพและมีเสถียรภาพมากขึ้นในภาพรวม
5. Cyber AI: รูปแบบการปกป้องที่แท้จริง มีการคาดหมายกันว่า อีกไม่นานทีมงานด้านซีเคียวริตี้อาจต้องเผชิญกับความซับซ้อน และความยากลำบากในการตรวจจับการโจมตีทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น พื้นที่ในการถูกโจมตีขององค์กรกำลังขยายตัวแบบทวีคูณ การใช้งาน 5G กับเติบโตไปพร้อมๆ กับการขยายตัวของจำนวนอุปกรณ์ต่างๆ ที่ต่อเชื่อมเข้ากับเครือข่าย รูปแบบการทำงานจากทางไกลกำลังขยายตัว และการโจมตีจากกลุ่มคนที่เป็น Third Party
ทั้งนี้ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ จะเป็น “กองหนุน” ในการรับมือสถานการณ์เสี่ยงข้างต้น โดย Cyber AI ไม่เพียงช่วยให้องค์กรสามารถตอบสนองได้เร็วกว่าการเคลื่อนไหวของผู้โจมตี แต่ยังสามารถคาดการณ์การเคลื่อนไหว และเป็นฝ่ายลงมือก่อนได้อีกด้วย
6. ชุดเทคโนโลยี (Tech Stack) เพื่อดูแลอุปกรณ์ในการทำงาน (Tech Stack goes Physical) การเติบโตอย่างมหาศาลของอุปกรณ์ที่เป็น Smart Devices ทำให้ผู้บริหารระดับสูงฝ่ายไอที จำเป็นต้องพิจารณาถึงวิธีการจัดการ บำรุงรักษา และรักษาความปลอดภัยให้กับทรัพย์สินทางกายภาพที่สำคัญต่อธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์โรงงานอัจฉริยะ หุ่นยนต์ทำอาหารอัตโนมัติ โดรนตรวจสอบ อุปกรณ์ควบคุมสุขภาพ และอื่นๆ มากมาย เนื่องจากการ “หยุดทำงาน” ของอุปกรณ์เหล่านี้ จะส่งผลกระทบทั้งต่อธุรกิจ หรืออาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ดังนั้นอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับชุดเทคโนโลยีที่องค์กรใช้สร้างเว็บหรือแอปบนอุปกรณ์กลุ่มนี้ ต้องมีความเสถียรในการทำงานระดับสูงสุด
ทั้งนี้ ประโยชน์ที่โดดเด่นของ Tech Stack ที่องค์กรยุคดิจิทัลมองข้ามไม่ได้ ก็คือ เป็นชุดเทคโนโลยีซึ่งครอบคลุมทั้งชุดโซลูชั่น โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี หรือระบบนิเวศข้อมูล ที่ช่วยองค์กรใช้สร้างเว็บหรือแอปพลิเคชัน เป็นการผสมผสานระหว่างภาษาการเขียนโปรแกรม, Frameworks, ฐานข้อมูล, เครื่องมือสนับสนุนการทำงานของระบบ Front-End และ Back-End เพิ่มความคล่องตัว สนับสนุนการเชื่อมโยงแหล่งข้อมูลจากที่จุดต่างๆ รองรับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ควบคู่กับการลดค่าใช้จ่าย
การคาดการณ์ที่เป็นไปได้ โดยจะมุ่งเน้นไปที่ 3 เทคโนโลยี ซี่งดีลอยท์ คาดการณ์ว่าจะเข้ามาครอบงำภูมิทัศน์ดิจิทัลของโลกใบนี้แน่นอนในอีกราว 10 ปีข้างหน้า
7. บันทึกภาคสนามจากอนาคต การเก็บข้อมูลผ่านเทคโนโลยี Quantum Computing, Ambient Computing และ Exponential Intelligence จะสามารถดักจับ “จินตนาการ” ของบรรดานักวิจัย หรือตัวเลขเงินลงทุนจากเวนเจอร์ แคปปิตอล สตาร์ตอัป หรือองค์กรขนาดใหญ่ และนำมาใช้ในการทบทวนเพื่อจัดทำแผนงานองค์กร ให้สอดรับกับแนวโน้มที่กำลังจะมา และเกาะขบวนไปกับโอกาสที่มาถึงได้ทันที
ความคาดหวังจาก Stakeholder ต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล
รายงานฉบับดังกล่าวของดีลอยท์ ยังฉายภาพ “ความคาดหวัง” ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ทุกกลุ่มที่อยู่ในกระบวนการของการเปลี่ยนผ่านสู่ Digital Transformation ว่า เพื่อเพิ่มความทรงพลังให้กับเครื่องมือทางเทคโนโลยี องค์กรธุรกิจ ในยุคที่ต้องเร่งความเร็วในการขยับเข้าสู่ดิจิทัล มุ่งหวังให้ “บุคลากร” ต้องมีความสามารถพิเศษในการขับเคลื่อนโครงการนวัตกรรมใหม่ ๆ และสร้างความแตกต่างทางการแข่งขันได้
ขณะที่ ลูกค้า คาดหวังประสบการณ์ที่โดดเด่นเชื่อมโยงโลกในเชิงกายภาพและโลกดิจิทัลเข้าด้วยกัน พนักงาน คาดหวังการทำงานที่ไหนก็ได้ คู่แข่ง ในการทำธุรกิจแบบดั้งเดิมก็เก่งมากขึ้น นอกจากนี้ ก็ยังมี คู่แข่งรายใหม่ๆ คอยจ้องโอกาสเขี่ยองค์กรยุคเก่าให้ออกไปจากสนามแข่งทางธุรกิจ
ทั้งนี้ สิ่งที่จะมาพร้อมกับการปรับกระบวนการทำงานสู่ดิจิทัล ก็คือ องค์กรกำลังต้องการปั้นทีมเทคโนโลยีให้เป็นเป็นหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ๆ ส่วนทางฟากทีมเทคโนโลยี ก็พบว่าตัวเองอยู่ในจุดเสี่ยง และมีเพียงผู้บริหารด้านไอทีไม่กี่รายเท่านั้น ที่พูดได้ว่า ตัวเองได้ทีมงานแบบที่ต้องการ
จากรายงานนี้จะเห็นได้ว่าแรงกระแทกของกระแส Disruption ส่งผลต่อความต้องการในการแสวงหาเทคโนโลยีรูปแบบใหม่เพื่อต่อยอดการดำเนินธุรกิจ หรือการเปลี่ยนแปลงองค์กร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ควบคู่กับการ “รู้เป้า” ของการเลือกเทคโนโลยีเพื่อหนุนเสริมศักยภาพที่ตรงกับความต้องการ
อย่างไรก็ตาม ในโลกแห่งความเป็นจริงทางธุรกิจ ก็คือ ทั้งลูกค้า และองค์กรมีความต้องการใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอด แต่มีทรัพยากรจำกัด ทั้งด้านกำลังคน และเวลา เนื่องจากทุกวันนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ดังนั้น องค์กรธุรกิจจึงมองหาแนวทางที่เรียกว่า “ทำน้อย ได้มาก” เดินทางลัดสู่การทำ Digital Transformation ด้วยการทำงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ และผู้เชี่ยวชาญที่สามารถมองเห็น “โอกาส” และแก้ปัญหาที่เป็น ข้อจำกัด ความเสี่ยง และ pain point ให้กับองค์กรลูกค้าได้อย่างตรงจุด รวดเร็ว ควบคู่กับการนำทางสู่การ “เพิ่มมูลค่า” ให้กับธุรกิจของลูกค้า/พันธมิตร
AIS Business พร้อมให้คำปรึกษา และเป็นผู้ช่วยในการทรานส์ฟอร์มองค์กรไปสู่ความเป็นดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่หลากหลายครบวงจร สะดวกง่ายและจบได้ในหนึ่งเดียว โดยทีมงานที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
วันที่เผยแพร่ 5 พฤษภาคม 2565
Reference
AIS Business พร้อมเป็นพันธมิตรดิจิทัล ที่มั่นใจได้ เพื่อพัฒนาธุรกิจและสังคมไทย
เติบโต อุ่นใจ ไปด้วยกัน
"Your Trusted Smart Digital Partner"
ปรึกษาและวางแผนพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรองรับการทำงานและต่อยอดธุรกิจได้ที่
Email : [email protected]
Website : https://www.ais.th/business
สามารถติดต่อผู้เชี่ยวชาญจาก AIS Business เพื่อให้คำปรึกษาและวางแผนพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล
สำหรับรองรับการทำงานและต่อยอดธุรกิจได้ทันที