ผสานรวมโลก Physical และ Digital เป็นหนึ่งเดียว ด้วย AIS 5G และ Digital Ecosystem กับกรณีศึกษาระบบ 5G AI Autonomous Drone System บนโครงข่าย 5G ในวังจันทร์วัลเลย์

การพูดถึงความเป็นไปได้ในการนำ 5G มาประยุกต์ใช้เพื่อตอบโจทย์ภาคธุรกิจองค์กรนั้นเป็นบทสนทนาที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่คำถามที่เคยเกิดขึ้นมาโดยตลอดนั้นก็คือ “แล้วประเทศไทยพร้อมหรือยังสำหรับก้าวที่ยิ่งใหญ่ด้านนวัตกรรมนี้?”

ในการตอบคำถามดังกล่าว ล่าสุด AIS ได้ร่วมมือกับ ARV บริษัทในเครือของ ปตท.สผ และพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก วังจันทร์วัลเลย์เพื่อทำการทดสอบและพัฒนานวัตกรรม 5G AI Autonomous Drone System หรือระบบ Drone อัจฉริยะที่ทำงานแบบอัตโนมัติด้วย AI และควบคุมผ่านโครงข่าย 5G ซึ่งสามารถใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรมได้แล้ว นับเป็นอีกหมุดหมายสำคัญของการประยุกต์ใช้ 5G สำหรับภาคธุรกิจและก้าวสู่เศรษฐกิจยุค AI และ 5G อย่างเต็มตัว

ในบทความนี้เราจะพาทุกท่านไปรู้จักกับทิศทางของการประยุกต์ใช้ 5G สำหรับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในประเทศไทย ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ของ EEC ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับคิดค้นและทดสอบการใช้เทคโนโลยีแห่งอนาคตของประเทศไทย เพื่อเป็นแม่แบบของการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็น Smart City พร้อมกรณีศึกษาของระบบ AI Autonomous Drone System ที่ผ่านการวิจัยและทดสอบจนสามารถใช้งานจริงได้แล้ว

5G สำหรับภาคองค์กรและอุตสาหกรรม: ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่ไร้ขีดจำกัด

5G นั้นถือเป็นก้าวใหญ่ของเทคโนโลยีในโลกโทรคมนาคม ที่ถูกออกแบบมาโดยคำนึงถึงการประยุกต์ใช้งานในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อตอบสนองการใช้งานที่หลากหลาย ทำให้มีความแตกต่างจาก 4G เป็นอย่างมาก ทั้งในเชิงของสถาปัตยกรรมระบบเครือข่ายแบบ 5G SA (Standalone) เพื่อรองรับการใช้งาน 5G แบบเต็มประสิทธิภาพทั้งในเรื่องของความเร็วสูงสุด และความหน่วงต่ำที่สุด รวมถึงการทำ Network Slicing ที่ปรับเปลี่ยนคุณสมบัติของการรับส่งข้อมูลภายใน 5G ให้เหมาะสมกับกรณีการใช้งานแต่ละรูปแบบที่แตกต่างกันได้

ด้วยเหตุนี้ เมื่อนำศักยภาพของ 5G มาผสานรวมเข้ากับแนวคิดของ Edge Computing ที่นำพลังประมวลผลเข้าไปติดตั้งเชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายในจุดที่ใกล้เคียงกับบริการโครงข่าย 5G ที่ต้องการใช้งานมากที่สุด เพื่อให้การตอบสนองมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น สำหรับรองรับ Application หลายรูปแบบ ก็ยิ่งเป็นการสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการใช้งาน 5G สำหรับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมให้หลากหลายยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ประเทศไทยเองก็ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความพร้อมด้าน 5G ในระดับโลกที่สูงที่สุดประเทศหนึ่ง ดังนั้น 5G จึงกลายเป็นโอกาสครั้งสำคัญสำหรับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ที่จะได้พัฒนานวัตกรรมบน 5G และใช้งานได้ก่อนใคร สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้เหนือล้ำกว่าคู่แข่ง อีกทั้งยังเป็นโอกาสที่จะได้ก้าวสู่การเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมบน 5G ที่อาจขยายตลาดออกสู่ตลาดต่างประเทศิได้จริงอีกด้วย

กรณีศึกษา: ความร่วมมือกับ ARV ทดสอบ 5G AI Autonomous Drone System ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ควบคุมฝูง Drone อัตโนมัติผ่าน 5G อย่างเต็มรูปแบบ

ในครั้งนี้ AIS ได้ร่วมมือกับพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ในการดูแลของบริษัท PTT ซึ่งเป็นผู้ลงทุนในเขตพื้นที่ EECi สำหรับการทดสอบและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และ ARV ซึ่งเป็นบริษัทลูกในเครือปตท.สผ. ที่ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ทางด้าน AI และโรโบติกส์ สำหรับภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ ในการวิจัย พัฒนา และทดสอบระบบ AI Autonomous Drone System ซึ่งเป็นระบบ Drone ที่ทำงานแบบอัตโนมัติและควบคุมได้แบบ Real-Time ผ่านโครงข่าย AIS 5G

ความสำเร็จของการทดสอบครั้งนี้ ได้ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของประเทศไทยในการก้าวสู่การพัฒนา Smart City และ Smart Business อย่างเต็มตัว สอดคล้องกับเป้าหมายใหญ่ของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกที่ต้องการสร้าง New S-Curve ด้วยนวัตกรรมและดิจิทัลเทคโนโลยี

ในโครงการครั้งนี้มีรายละเอียดที่น่าสนใจด้วยกันหลายประการ ซึ่งทางทีมงาน TechTalkThai ขอสรุปแต่ละส่วนเพื่อให้ทุกท่านได้เห็นถึงแนวทางการร่วมมือกับ AIS เพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ บนโครงข่าย 5G ที่เป็นไปได้ดังนี้ครับ

วังจันทร์วัลเลย์: พื้นที่วิจัยและทดสอบนวัตกรรมใหม่ๆ ของประเทศไทยในเขต EECi เพื่อสร้างต้นแบบของ Smart City และการร่างกฎหมายด้านเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม

สาเหตุที่โครงการนี้ต้องมีการทดสอบในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์นั้น ก็มีเหตุผลสำคัญคือประเด็นด้านกฎหมายนั่นเอง

ที่ผ่านมา Drone นั้นถือเป็นเทคโนโลยีที่มีกฎหมายควบคุมอย่างเข้มงวดหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการต้องขอใบอนุญาตก่อนใช้งาน, การขออนุญาตก่อนทำการบิน Drone ในแต่ละพื้นที่ หรือแม้แต่เทคโนโลยีที่ใช้ควบคุม Drone นั้น ต้องอยู่ในระยะที่มองเห็นเป็นเส้นตรงได้ (Visual Line of Sight – VLOS) เพื่อตอบโจทย์ด้านความมั่นคง ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นในพื้นที่ต่างๆ

ข้อจำกัดเหล่านี้เอง ทำให้รูปแบบการประยุกต์ใช้งาน Drone ในประเทศไทยนั้นยังมีข้อจำกัดอยู่มาก และภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมต่างๆ เองก็ไม่สามารถใช้งาน Drone ได้อย่างเต็มศักยภาพเพื่อก้าวไปสู่การทำงานแบบอัตโนมัติได้

ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จึงเป็นพื้นที่สำหรับการทำ Regulatory Sandbox ทดสอบเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ข้อกฎหมายอาจยังไม่อนุญาตให้ทำได้โดยทั่วไป เพื่อให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของไทยมีโอกาสได้พัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ควบคู่ไปกับการร่างข้อกฎหมายในอนาคต ทำให้เกิดการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาได้โดยไม่ติดข้อกฎหมาย และเร่งให้การออกกฎหมายใหม่ๆ ในอนาคตมีความรวดเร็วและสอดคล้องต่อวัตถุประสงค์การใช้งานมากยิ่งขึ้น ซึ่งในกรณีนี้ ก็มีการทำ UAV Regulatory Sandbox หรือพื้นที่ผ่อนปรนกฎระเบียบพิเศษด้านอากาศยานไร้คนขับ เพื่อให้ทดสอบระบบอากาศยานไร้คนขับได้อย่างเปิดกว้างมากขึ้นนั่นเอง

5G AI Autonomous Drone System ก็เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ต้องมีการคิดค้นวิจัยและทดสอบในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ด้วยเหตุผลดังกล่าวด้วยเช่นกัน เพราะการที่จะมีระบบ Drone ซึ่งทำงานได้อย่างชาญฉลาด ยืดหยุ่น และเป็นอัตโนมัติได้นั้น จำเป็นจะต้องมีโครงข่าย 5G ที่ครอบคลุมพื้นที่การบิน และ Drone ที่ปฏิบัติภารกิจที่มีความซับซ้อนสูงเอง ก็อาจต้องบินไปยังพื้นที่ที่นอกเหนือขอบเขตระยะสายตาหรือ Beyond Visual Line of Sight (BVLOS) เช่นกัน

Horrus: ระบบ 5G AI Autonomous Drone System อัจฉริยะทำงานแบบอัตโนมัติ ขับเคลื่อนด้วย AI และ 5G

แนวคิดของ 5G AI Autonomous Drone System นั้น ก็คือแนวคิดของระบบ Drone ที่ทำงานแบบอัตโนมัติ สามารถรับคำสั่งให้บินไปปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ต่างๆ โดยมีการใช้งานร่วมกับ AI หลากหลายส่วน ตั้งแต่การบิน, การลงจอด, การตรวจสอบความผิดปกติที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ และอื่นๆ อีกมากมาย

“Horrus” คือชื่อของโดรน ในระบบ AI Autonomous Drone System ที่ ARV ได้พัฒนาขึ้นด้วยฝีมือคนไทยทั้งหมด ตั้งแต่การออกแบบ Hardware ไปจนถึงการพัฒนา Software สำหรับการควบคุม และ AI สำหรับการปฏิบัติงานในรูปแบบที่หลากหลาย

นอกเหนือจากตัว Drone เองแล้ว Horrus นี้ได้ถูกออกแบบมาให้เป็น Nested Drone กล่าวคือ มีกล่องอัจฉริยะสำหรับจัดเก็บและปล่อยตัว Drone ได้แบบอัตโนมัติ พร้อมความสามารถในการชาร์จไฟ, การโอนถ่ายข้อมูล และการจัดการกับ Firmware ของ Drone อีกด้วย ทำให้ Horrus นี้สามารถถูกใช้งานแบบอัตโนมัติในทุกๆ วันได้อย่างครบวงจร โดยไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลรักษาหรือจัดเก็บ Drone ในแต่ละวัน

ดังนั้นในภาพรวม Horrus จึงมีองค์ประกอบด้วยกัน 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่

  1. Drone Box กล่องเก็บ Drone ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้ง Launch Pad, Landing Pad และ Charging Station โดยมีการเชื่อมต่อ 5G เพื่อควบคุมการทำงานร่วมกับ Drone และรับคำสั่งในการเก็บหรือปล่อยตัว Drone ได้ รวมถึงสามารถรายงานผลสถานะต่างๆ
  2. Drone ตัวอุปกรณ์ Drone ติดกล้อง พร้อมการเชื่อมต่อ 5G เพื่อการควบคุม
  3. Software สำหรับบริหารจัดการการบินของฝูง Drone และ AI/ML สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลภาพที่ได้รับจาก Drone เพื่อตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ เช่น เปลี่ยนเส้นทางการบิน, การตรวจสอบพื้นที่ต่างๆ และทำการแจ้งเตือน เป็นต้น

การใช้ 5G เป็นระบบโครงข่ายหลักในการเชื่อมต่อ Drone Box และ Drone เพื่อทำการควบคุมนั้น ช่วยให้ Horrus สามารถปฏิบัติการได้อย่างยืดหยุ่นกว่าการควบคุม Drone ด้วยสัญญาณวิทยุ หรือ Wi-Fiแบบทั่วไป ปลดล็อคข้อจำกัดที่ Drone เคยมีอย่างในอดีตได้ อีกทั้งระบบโครงข่าย 5G ของ AIS เองก็มีการปรับแต่งมาเป็นอย่างดี ด้วยการทำ Network Slicing แบ่งระบบโครงข่ายออกเป็น 2 ส่วนเพื่อรองรับคุณสมบัติของการเชื่อมต่อที่ Drone ต้องการ ได้แก่

  • Control Plane: ระบบโครงข่าย 5G ที่ปรับแต่งมาสำหรับใช้ควบคุม Drone ได้แบบ Real-Time เพื่อให้การรับคำสั่งและตอบสนองเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ลด Latency ให้น้อยได้ถึง 4ms ซึ่งถือว่าต่ำกว่า Wi-Fi ที่มี Latency ที่ 10ms เป็นอย่างมาก
  • Data Plane: ระบบโครงข่าย 5G สำหรับการทำ Image Streaming ส่งภาพจากกล้องของ Drone มายังระบบ AI เพื่อให้การวิเคราะห์ข้อมูลภาพเป็นไปได้แบบ Real-Time โดยเน้นความต่อเนื่องของการรับส่งข้อมูล และปริมาณ Bandwidth ในการเชื่อมต่อที่เพียงพอ

ทั้งนี้เพื่อให้การประมวลผลและตอบสนองเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วสูงสุด AIS จึงได้มีการติดตั้งระบบ 5G MEC เพื่อให้บริการ Edge Computing ภายในโครงข่าย 5G โดยตรง ทำให้ระบบ AI สามารถวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพที่ได้รับได้อย่างรวดเร็ว

ที่ผ่านมาได้มีการทดสอบการใช้งาน Horrus นี้ในหลากหลายกรณี เช่น

  • การตรวจสอบความปลอดภัยในเขตวังจันทร์วัลเลย์โดยอัตโนมัติด้วยฝูง Drone ที่บินอย่างต่อเนื่อง และจะทำการแจ้งเตือนเมื่อตรวจพบเหตุการณ์ผิดปกติ เช่น การบุกรุกพื้นที่ และการเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น
  • การติดตามผลความคืบหน้าของโครงการก่อสร้าง โดยใช้ภาพถ่ายจาก Drone มาทำการวิเคราะห์ด้วย AI/ML เทียบกับเป้าหมายของการก่อสร้าง เพื่อชี้วัดเป็นเปอร์เซ็นต์ความสำเร็จของการดำเนินการ
  • การติดตามผลการจราจรในช่วงปีใหม่ไทย 2023 ที่ผ่านมาร่วมกับกรมทางหลวง ตรวจสอบข้อมูลจราจรแบบ Real-Time ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อวางแผนจัดการเส้นทางการจราจรสำหรับประชาชน

สำหรับกรณีการใช้งานอื่นๆ ที่เป็นไปได้นั้นก็ยังมีอีกหลากหลาย เช่น การนำ Horrus ไปใช้ตรวจสอบสภาพและความปลอดภัยของเครื่องจักร, ท่อส่งพลังงาน, อาคาร, เขื่อน, Solar Cell หรือแม้แต่ป่าหรือพื้นที่เกษตรกรรมก็ตาม

จะเห็นได้ว่าระบบ 5G AI Autonomous Drone System นี้มีรายละเอียดที่ค่อนข้างมาก และต้องอาศัยระบบโครงข่าย 5G ที่เหมาะสมในการทำงานให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในความร่วมมือครั้งนี้จึงถือเป็นการแสดงศักยภาพและความพร้อมของ AIS ในการให้บริการโครงข่าย 5G เฉพาะทางสำหรับการประยุกต์ใช้งานในภาคธุรกิจได้เป็นอย่างดี

AIS 5G Infrastructure: ผสานรวมการเชื่อมต่อโครงข่าย 5G ที่ครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ เข้ากับพลังประมวลผลสูงบน Edge Computing ที่ตอบสนองได้รวดเร็วยิ่งกว่า Cloud ตอบโจทย์การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ได้อย่างหลากหลาย

ที่ผ่านมา AIS มีความตั้งใจที่จะเป็นผู้นำทางด้าน 5G ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ด้วยการลงทุนในเทคโนโลยี 5G อย่างเข้มข้น ทำให้เป็นผู้ให้บริการ 5G ที่มี Bandwidth ถึง 1,460MHz สูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย, การเป็นผู้ให้บริการ 5G SA รายแรกของไทย และการทดสอบ 5G Network Prioritization จนพร้อมให้บริการได้แล้วเป็นรายแรกของไทย

ทั้งนี้การที่ AIS ได้เข้าไปร่วมลงทุนและทดสอบ 5G ภายในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ของ EECi นั้น ถือเป็นการวางรากฐานต้นแบบระบบโครงข่าย 5G สำหรับ Smart City และ Smart Business แห่งอนาคต และทำให้เราได้เห็นถึงความมุ่งมั่นจริงจังในการผลักดันนวัตกรรมบนโครงข่าย 5G ของ AIS ได้เป็นอย่างดี โดยสิ่งที่ AIS ได้นำไปทดสอบในพื้นที่ดังกล่าวนั้นได้แก่

  • AIS 5G SA (Standalone) สำหรับการให้บริการโครงข่าย 5G ที่มีคุณสมบัติเฉพาะที่สอดคล้องกับความต้องการทางธุรกิจที่แตกต่างกันไป ด้วยการทำ Network Slicing และการปรับแต่ง Latency ให้เหมาะสม
  • AIS 5G Private Network สำหรับการสร้างระบบเครือข่ายส่วนตัวที่มีความมั่นคงปลอดภัยสูงและปรับแต่งได้อย่างยืดหยุ่น
  • AIS 5G MEC ระบบ Edge Computing สำหรับใช้ในการประมวลผลและตอบสนองอย่างรวดเร็ว สามารถทำงานร่วมกับ AIS Cloud X บริการ Cloud ครบวงจรสำหรับภาคธุรกิจของ AIS ได้ ทำให้สามารถรองรับการพัฒนา 5G Application ได้หลากหลายรูปแบบ
  • AIS Paragon Platform ระบบบริหารจัดการ 5G, Edge Computing และ Cloud จากศูนย์กลาง พร้อม Application Marketplace ให้ใช้งานนวัตกรรมใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย

จะเห็นได้ว่า AIS 5G Infrastructure เหล่านี้ที่ถูกทดสอบในวังจันทร์วัลเลย์นั้น สามารถนำไปประยุกต์ใช้รองรับ 5G Application อื่นๆ ได้อีกหลากหลาย ซึ่ง AIS ก็พร้อมที่จะจับมือกับผู้นำในธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ร่วมกันต่อไปในอนาคต

สนใจใช้งาน AIS 5G หรือทดสอบระบบ AI Autonomous Drone System หรือการทดสอบ ทดลองพร้อมสร้างนวัตกรรมด้วย 5G ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ สามารถติดต่อทีมงาน AIS Business ได้ทันที

วันที่เผยแพร่ 24 กรกฎาคม 2566

AIS Business พร้อมเป็นพันธมิตรดิจิทัล ที่มั่นใจได้ เพื่อพัฒนาธุรกิจและสังคมไทย
เติบโต อุ่นใจ ไปด้วยกัน
"Your Trusted Smart Digital Partner"

ปรึกษาและวางแผนพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรองรับการทำงานและต่อยอดธุรกิจได้ที่
Email : business@ais.co.th
Website : https://www.ais.th/business

ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อแนะนำโซลูชันที่เหมาะกับธุรกิจของคุณ 

สามารถติดต่อผู้เชี่ยวชาญจาก AIS Business เพื่อให้คำปรึกษาและวางแผนพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล 
สำหรับรองรับการทำงานและต่อยอดธุรกิจได้ทันที