AIS จับมือพันธมิตรภาคอุตสาหกรรมพร้อมให้บริการ 5G เชื่อมต่อ OT สู่ IT

ในปี 2022 เครือข่าย 5G ได้เดินทางก้าวข้ามการตระหนักรู้ในภาคทฤษฎีสู่การใช้จริงในธุรกิจได้อย่างเต็มตัว AIS เองได้เริ่มปฏิบัติการมุ่งหน้าสู่ถนนของ 5G ตั้งแต่หลายปีก่อน โดยมีความมุ่งมั่นว่าขีดความสามารถและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องของ 5G แบบใหม่นี้จะช่วยให้ธุรกิจไทยสามารถต่อยอดสู่นวัตกรรมไฮเทคใหม่ๆ เพื่อช่วยให้แข่งขันกับตลาดโลกที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2020 AIS ได้ลงทุนประมูลคลื่นความถี่ และสร้างโครงข่ายของ 5G รวมถึงจับมือกับภาครัฐและเอกชนให้นำเทคโนโลยีนี้เข้าสู่การใช้งานจริงเรื่อยมา ซึ่งที่งาน Thailand 5G Summit 2022 ทีมงาน AIS พร้อมกับคอนเซปต์ 5G NEXTGen Business ได้ฉายให้เห็นถึงความคืบหน้าไปอีกขั้นในมุมของการที่ 5G จะเข้าไปมีบทบาทตอบโจทย์ธุรกิจแบบเฉพาะทางอย่าง Smart Manufacturing ที่ AIS และพันธมิตรได้มานำเสนอในงานครั้งนี้ ทีมงาน TechTalkThai ขอสรุปสาระสำคัญให้ทุกท่านได้อัปเดตว่าปัจจุบันความก้าวหน้าของ AIS 5G ในด้าน Vertical Solutions นั้นเป็นอย่างไรบ้าง

Smart Manufacturing ถือเป็นความท้าทายของที่สุดด้านหนึ่งของภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากประเทศไทยมีสัดส่วนของการผลิตขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับ GDP ของประเทศ (Statista) กล่าวคือมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ แต่การแข่งขันในตลาดโลกนั้นสิ่งที่จะช่วยรักษาศักยภาพในการเติบโตได้จากนี้ ก็คือการเพิ่มประสิทธิภาพ การลดต้นต้นทุน และความเร็วในการผลิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถถูกสนับสนุนได้ผ่านระบบไอที 

อย่างไรก็ดีความท้าทายที่เกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมการผลิตนั้นก็คือจะทำอย่างไรถึงจะเชื่อมต่อระบบงาน OT เข้าสู่โลก IT ให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างลงตัว เพราะทั้งสองมีความแตกต่างกันอย่างสูงเช่น หากท่านพูดเรื่องของไอทีก็คือการนำซอฟต์แวร์ไปติดตั้งใช้งาน หรือประมวลผลบนเซิร์ฟเวอร์ บนคลาวด์หรือดาต้าเซนเตอร์ แต่ในมุมของ OT เรากำลังพูดถึงไลน์การผลิตที่มีเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีระบบแขนกลหุ่นยนต์ช่วยทำงานบางอย่างและภายในโรงงานหนึ่งอาจมีระบบเซ็นเซอร์นับหมื่นตัวที่คอยวัดค่าการทำงานของระบบ รวมถึงตู้คอนโทรลขนาดใหญ่กับระบบควบคุม SCADA เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้เอง AIS จึงได้จับมือกับพันธมิตรในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่แต่ละคนต่างมีเอกลักษณ์ในมุมเฉพาะตัว ที่เชี่ยวชาญในพาร์ทของเครื่องจักร ซอฟต์แวร์ ระบบควบคุม ตลอดจนส่วนประกอบต่างๆในภาคอุตสาหกรรม ทั้ง Bosch, Mitsubishi Electric, Omron, Schneider Electric, TKK และ TCS  หรือกรณีของความร่วมมือกับสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA) ในการนำหุ่นยนต์บนการเชื่อมต่อ 5G มาใช้เชิงพาณิชย์แห่งแรกในประเทศไทย และยังมีอีกหลายการใช้งานที่แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมการผลิตนั้นสามารถนำระบบมาใช้งานบนโครงข่าย 5G ได้จริง

ล่าสุดกับในย่านนิคมอุตสาหกรรม (EEC) ทาง AIS ยังได้ร่วมมือกับทาง DEPA จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้และทดลองระบบ 5G เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้สนใจสามารถเข้ามาชมโซลูชันจริงหรือนำ Use Case ระบบทางอุตสาหกรรมของท่านมาทดลองทำงานบน AIS 5G เพื่อศึกษาและการันตีให้แน่ใจว่าระบบสามารถทำงานได้บนโครงข่าย 5G 

เปิดตัวพันธมิตรรายใหม่ ‘SIEMENS’ เสริมความเชี่ยวชาญด้านระบบ OT

ล่าสุดในงาน Thailand 5G Summit 2022 ทาง AIS ได้มีการเปิดตัวพาร์ทเนอร์รายใหญ่ในทางอุตสาหกรรมอย่าง SIEMENS ที่หลายท่านคงคุ้นชื่อกันเป็นอย่างดี โดย SIEMENS เป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงระดับโลกมายาวนานในฟิลด์ของระบบโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งในส่วนของ Smart Manufacturing ทางบริษัทก็เป็นผู้นำและโซลูชันสำหรับด้านการผลิต เช่น ซอฟต์แวร์ที่ช่วยออกแบบไลน์การผลิตให้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยปกติแล้วหากใครเคยทำงานในโรงงานอาจเคยเห็นการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายแปลนเครื่องจักรนั้น ซึ่งมีต้นทุนสูงมากเพราะต้องปิดพื้นที่เพื่อปรับเปลี่ยนการทำงาน ที่กระทบทั้งเรื่องกายภาพและระบบเชื่อมต่อผ่าน LAN หรือ Wi-Fi อีกด้วย

นอกจากนี้ SIEMENS ยังส่งเสริมเรื่องของความเป็น Autonomous Machine และซอฟต์แวร์ที่ช่วยวางแผนการปฏิบัติการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในอุตสาหกรรมการผลิต จะเห็นได้ว่าการนำข้อมูลจากเครื่องจักรขึ้นไปวิเคราะห์ใช้งานด้วยซอฟต์แวร์ หรือเมื่อผู้ดูแลต้องการควบคุมเครื่องจักรจากทางไกล หัวใจสำคัญที่ทำให้การทำงานดำเนินไปได้ก็คือระบบเครือข่ายนั้นเอง ซึ่งด้วยความหน่วงต่ำของ 5G และสามารถรองรับการเชื่อมต่อจากอุปกรณ์จำนวนมากได้ รวมถึงรัศมีครอบคลุมที่กว้างกว่า Wi-Fi ปกติ ทำให้ท่านอาจพิจารณาใช้ 5G ควบคู่กับระบบเดิมหรือทดแทนของเดิมได้ การปรับผัง Layout ในไลน์การผลิตก็จะไม่กระทบอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้เองจึงกล่าวได้ว่าการจับคู่ระหว่าง AIS และ SIEMENS คือส่วนผสมที่ลงตัวอย่างแท้จริง

อีกหนึ่งไฮไลต์ที่ SIEMENS ได้นำเสนอในงานครั้งนี้ก็คือการเปิดตัว 5G Industrial Router ที่รองรับมาตรฐานทางอุตสาหกรรมตัวแรกในประเทศไทยและเป็นประเทศที่ 4 ในโลกที่ได้มีโอกาสสัมผัสกับอุปกรณ์นี้ สาเหตุที่ต้องมี Router ชนิดทนทานเป็นพิเศษเพราะสภาพแวดล้อมของโรงงานอุตสาหกรรมนั้นมีความยากกว่าปกติเช่น ความร้อน ความชื้น หรือสารเคมีต่างๆ และนี่คือการเปิดโอกาสให้ระบบ OT สามารถเชื่อมต่อกับ IT ผ่าน 5G ได้อย่างสมบูรณ์

จากข้อมูลที่กล่าวมา AIS นั้นมีความพร้อมที่จะให้บริการ 5G แล้วในธุรกิจเชิงลึกในมุมของ Smart Manufacturing ให้เกิดขึ้นได้จริง ด้วยการสนับสนุนจากพาร์ทเนอร์ด้าน OT และระบบเครือข่าย AIS 5G รวมถึงโครงสร้างพื้นด้านดิจิทัลในโลกไอทีของ AIS ทั้ง Cloud, Edge Computing, IoT และอื่นๆ ซึ่งนี่เป็นเพียงส่วนเล็กๆในการดำเนินงานที่ AIS ได้ทำมา แต่ 5G ก็ยังไม่ได้จำกัดแค่การใช้งานในทางอุตสาหกรรม โดยธุรกิจอื่นๆอย่าง อาคารและอสังหาริมทรัพย์ การขนส่งและโลจิสติก โรงพยาบาล ธนาคารการเงิน การเกษตร สถาบันการศึกษา ก็สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ 5G Ecosystem นี้ได้ เพราะ AIS มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวไปพร้อมกับนวัตกรรมของโลกได้

ท่านใดสนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ AIS 5G สามารถดูข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ ได้ที่ https://business.ais.co.th/ หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ AIS Business ที่ดูแลท่านอยู่

วันที่เผยแพร่ 17 พฤศจิกายน 2565

AIS Business พร้อมเป็นพันธมิตรดิจิทัล ที่มั่นใจได้ เพื่อพัฒนาธุรกิจและสังคมไทย
เติบโต อุ่นใจ ไปด้วยกัน
"Your Trusted Smart Digital Partner"

ปรึกษาและวางแผนพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรองรับการทำงานและต่อยอดธุรกิจได้ที่
Email : [email protected]
Website : https://www.ais.th/business