ย่างเข้าปี 2023 ที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาอยู่ในสายตาผู้บริหาร และแผนการลงทุนขององค์กรต่างๆ เพิ่มโอกาสยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงาน และก้าวทันความท้าทายในสนามแข่งขันทางธุรกิจยิ่งขึ้น แต่เมื่อเจาะลึกลงไปที่โรดแมปขององค์กรในยุคที่ “ดิจิทัล” เข้ามามีบทบาทขับเคลื่อนแทบทุกกิจกรรมของกระบวนการทำงาน และเร่งสปีดการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ จะพบว่า “ดิจิทัล ทรานสฟอร์เมชัน” ยังเป็นเทรนด์เทคโนโลยี “ยืนหนึ่ง” ต่อเนื่องจากปีก่อนๆ ด้วยอานิสงค์ของความเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาใหม่ๆ ที่ไม่หยุดนิ่งของเทคโนโลยี และการขยายบทบาทครอบคลุมทุกส่วนของการปฏิบัติงาน ซัพพลายเชน จนถึงการตอบสนองโจทย์ความต้องการของลูกค้าปลายทาง ดังนั้นทุกองค์กรจำเป็นต้อง “ก้าวต่อไป” บนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) และเกาะติดทุกวิวัฒนาการของเทคโนโลยีในกลุ่มนี้
เว็บไซต์ของนิตยสารฟอร์บส์ ได้เผยแพร่บทความ “Top 10 Digital Transformation Trends For 2023” ซึ่งผู้เขียนได้สังเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการสนทนากับทั้งกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก และผู้บริโภค จนนำมาสู่ข้อสรุปของแนวโน้มที่เชื่อว่าจะมาแรง 10 อันดับแรก สำหรับเทรนด์ของ “ดิจิทัล ทรานสฟอร์เมชัน” ในปี 2023
ระบบอัตโนมัติ : ขับเคลื่อนประสิทธิภาพ
ระบบอัตโนมัติ (Automation) จะได้รับความสำคัญเพิ่มขึ้น องค์กรทั่วโลกพึงพอใจกับประสิทธิผลของแนวคิด “ทำน้อย ได้มาก (doing more with less)” ซึ่งเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาที่ผ่านบทพิสูจน์ความสำเร็จมาแล้ว ในสภาวะขาดแคลนบุคลากรท่ามกลางวิกฤติแพร่ระบาดโควิดก่อนหน้านี้ ซึ่งส่งผลให้ออฟฟิศหลายแห่งเหลือพนักงานอยู่น้อยมาก และที่เหลืออยู่ส่วนใหญ่ก็อยู่ในภาวะ “หมดไฟในการทำงาน (burnt out)” จากความเครียดสะสมของสภาพการทำงานในที่ทำงาน ที่ต้องหัวหมุนไปภาระงานทั้งหลายที่อยู่ในมือ ทั้งการทำงานข้ามแพลตฟอร์ม (jumping between platforms) ค้นคว้าข้อมูล และต้องใช้เวลาอย่างมากกับการทำงานซ้ำซาก
จากผลสำรวจของ Asana ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มด้านการจัดการโครงการของทีม (Team Project Management) ชั้นนำ พบว่า พนักงานส่วนใหญ่ใช้เวลาแค่ 1 ใน 3 ของวันในการทำงานสำหรับภาระงานที่ได้รับการว่าจ้าง ซึ่งนั่นไม่ได้สร้างผลลัพธ์ที่คุ้มค่าให้กับธุรกิจ ดังนั้น หลายองค์กรจึงเริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้แก้ปัญหานี้
ความสามารถในการลดกระบวนการทำงานให้กระชับขึ้น ขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ เป็นปัจจัยข้อใหญ่ที่จะสร้างผลกำไรให้กับธุรกิจ จึงเป็นที่มาว่า ทำไมระบบอัตโนมัติ (automation) และระบบอัตโนมัติอัจฉริยะ (intelligent automation) ที่เป็นการยกระดับองค์กรให้ใช้ automation อย่างเต็มรูปแบบ จะกลายเป็นหัวใจของการปรับองค์กรสู่ดิจิทัล ในปี 2023
จากรายงาน Automation Now & Next Report ซึ่งเป็นผลสำรวจที่จัดทำโดย Futurum Research ร่วมกับบริษัทผู้พัฒนากระบวนการอัตโนมัติของหุ่นยนต์ระดับโลก Automation Anywhere ระบุว่า 61% ขององค์กรที่ปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตโนมัติ ก็เพื่อรับมือปัญหาด้าน “คน” และมี 94% ขององค์กรที่บอกว่า ในปี 2023 จะให้พนักงานไปทำงานที่ “สร้างมูลค่าได้มากขึ้น” งานที่จะช่วยพัฒนาธุรกิจให้ก้าวหน้าขึ้น แทนภาระงานที่กินเวลาบุคลากร และเป็นงานซ้ำซาก ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งการปรับเปลี่ยนนี้จะช่วยเพิ่มผลกำไรให้กับบริษัท
จับตา! การกำกับดูแลบริษัท Tech ยักษ์ใหญ่
แนวโน้มนี้เริ่มส่งสัญญาณมาตั้งแต่ปีก่อนหน้า และจะเริ่มชัดเจนยิ่งขึ้นแล้ว บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ในกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งรวมไปถึงชื่อที่คุ้นหูกันดีอย่างเช่น Amazon, Apple, Google, Meta จะได้รับผลกระทบจาก กฎหมายต่อต้านการผูกขาด และหลักเกณฑ์การกำกับดูแลอื่นๆ เนื่องจากรัฐบาลหลายประเทศ มองถึงการลดหรือกำจัดการผูกขาดที่เกี่ยวข้องกับการค้า โฆษณาดิจิทัล การควบรวมกิจการ และร้านค้าแอปออนไลน์ (App Store) เป็นต้น โดยหนึ่งในกฎหมายสำคัญที่ถูกผลักดันออกมาเพื่อภารกิจนี้ ได้แก่ กฎหมายตลาดดิจิทัล (Digital Markets Act) ของสหภาพยุโรป ที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนมีนาคม 2023 โดยมุ่งเป้ากำกับดูแลเหล่ายักษ์ใหญ่ในวงการเทคโนโลยี ที่ปัจจุบันมีข้อได้เปรียบจากการเป็นผู้นำในตลาด จนกลายเป็น “ผู้เฝ้าประตู” ที่รวบรวมข้อมูลมหาศาลของลูกค้าอยู่ในมือ
ปักหมุด! เพิ่มการมองเห็น (Observability)
ความนิยมอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ในการใช้คลาวด์ในการเป็นโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการใช้งานเทคโนโลยีคอนเทนเนอร์ (Container Technologies) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการจัดเก็บแอปพลิเคชันที่มีความยืดหยุ่น ง่ายต่อการโยกย้าย และใช้งาน ทำให้ แผนกไอทีต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเฝ้าระวัง (monitoring) เพราะวิธีการที่เคยได้ผลกับระบบงานแบบเดิม ๆ ไม่สามารถนำมาใช้ได้กับเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้อีกต่อไป
การเพิ่มการมองเห็น (Observability) ระบบไอทีภาพรวม ด้วยเครื่องมือซอฟต์แวร์เพื่อตรวจหาปัญหา จะช่วยให้ทุกคนในแผนกไอที ตั้งแต่ผู้ดูแลระบบ ไปจนถึงนักพัฒนา สามารถเห็นภาพรวมได้อย่างสมบูรณ์ครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐานที่ซับซ้อน ช่วยให้ตรวจพบและแก้ไขข้อผิดพลาดได้ก่อนจะขยายเป็นปัญหาใหญ่ รวมทั้งการตรวจจับเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของระบบ ลดทอนภัยคุกคามก่อนเกิดการโจมตี
ที่ผ่านมา เริ่มเห็นยักษ์ไอทีหลายรายทุ่มเดิมพันกับกระแสของ Observability แล้ว ซึ่งรวมถึงการเข้าซื้อกิจการหลายๆ บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีนี้ เพื่อนำผลิตภัณฑ์/ซอฟต์แวร์มาผสานรวมอยู่ในแพลตฟอร์มของตัวเอง
สิ่งแวดล้อม-สังคม-บรรษัทภิบาล (ESG)
นับตั้งแต่ปี 2021 ที่หัวข้อสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance : ESG) ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหัวข้อสำคัญของเทรนด์ทางธุรกิจที่ครอบคลุมมาถึงกระบวนการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลของบริษัทต่างๆ ด้วย และมาถึงปี 2023 ก็ยังคงเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการทำ Digital Transformation ซึ่งเรียกร้องให้ธุรกิจต่างๆ ต้องมีการลงทุนในกระบวนการทำงานที่จะสร้างความยั่งยืนยิ่งขึ้น พันธมิตรใหม่ๆ ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยลดผลกระทบต่อสภาพอากาศ และการให้คำปฏิภาณที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (carbon footprint) เป็นต้น
แม้ว่าที่ผ่านมา สำนักงานสหประชาชาติ (UN) ได้ออกมาเผยแพร่ผลการศึกษา ที่ระบุว่าบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยียังทำงานเพื่อสกัดกั้นปัญหาวิกฤติด้านสภาวะอากาศได้ไม่ดีพอ แต่ก็เริ่มเห็นความเคลื่อนไหวจากบริษัทไอทีระดับโลก อย่างเช่น โครงการ The Climate Pledge ของ Amazon ที่ปัจจุบันมีบริษัทร่วมลงนามแล้วมากกว่า 350 แห่ง ขณะที่ ยังมียักษ์ใหญ่รายอื่นๆ ที่ออกมาประกาศตัวเรื่องการสร้างความยั่งยืนเช่นกัน ได้แก่ Microsoft, Intel และ SAP เป็นต้น
คิดใหม่-เดินเกมรุกบน Metaverse
ปี 2023 จะเห็นความเป็นรูปธรรมของกระแสความแรงของเมตาเวิร์ส (Metaverse) อย่างชัดเจน หลังจากค่อยๆ เติบโตอย่างช้าๆ ในปีก่อนหน้า มีบริษัทที่จัดทำแผนธุรกิจใน Metaverse เพิ่มจำนวนขึ้น โดยจะเห็นแผนการดำเนินงานที่สามารถทำได้จริงได้มากขึ้นด้วย ความเปลี่ยนแปลงที่จุดกระแสความแรงก็คือ มีเงินไหลเข้าสู่อาณาจักรนี้เพิ่มขึ้น ทั้งในรูปแบบ NFTs, cryptocurrency และบริการทางการเงินที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง (Decentralized Finance : DeFi) ด้วยความเชื่อมั่นต่ออนาคตของ Metaverse
ปัจจัยหนุนการเติบโตส่วนหนึ่ง มาจากการมองการต่อยอดธุรกิจด้วย การผสานจักรวาลเมตาเวิร์สและโลกธุรกิจจริงเข้าด้วยกันเป็นช่องทางเข้าถึงลูกค้าที่เรียกว่า Omniverse ที่เป็นการสร้างความรู้สึกจมดิ่งลงไปในโลกเสมือนให้คล้ายกับการอยู่ในโลกจริง (immersion) ได้มากที่สุด
ตั้งแต่การจำลองข้อมูลที่เชื่อมโยงจากหลายแหล่งได้แบบเรียลไทม์ (Data Replication) จนพัฒนามาสู่การสร้างสภาพแวดล้อมจำลอง ที่มีความเสมือนจริง และเป็นโลกที่ขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติ (autonomous) ดังนั้น Metaverse สำหรับอุตสาหกรรม อย่างเช่น สมาร์ทซิตี้ และเทคโนโลยี Digital Twins ที่เกิดขึ้นแล้วทุกวันนี้ จะมีโอกาสเติบโตอย่างโดดเด่นในปี 2023
Collaboration จะกลายเป็น New Normal
ในปี 2022 รูปแบบการทำงานแบบผสมผสาน (hybrid work) ได้ยึดครองพื้นที่ในใจของบริษัทจำนวนมาก โดยอนุญาตให้พนักงานเก็บเกี่ยวความได้เปรียบจากตารางการทำงานแบบยืดหยุ่น ผลลัพธ์ที่ตามมา ก็คือ บริษัทที่มีความร่วมมือกัน (collaboration companies) จึงได้ปรับปรุง รวมถึงพัฒนาแพลตฟอร์มและคุณสมบัติการทำงานใหม่ๆ เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยให้การทำงานร่วมกัน (collaboration) สามารถทำได้อย่างง่ายดาย ไร้รอยต่อ เข้าถึงการทำงานได้ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด ซึ่งเทรนด์การทำงานร่วมกันนี้ กำลังจะเป็น new normal ของการทำดิจิทัล ทรานสฟอร์เมชันในปี 2023 ด้วย
จากนี้ไป จะเป็นยุคแห่งการล่มสลายของรูปแบบการทำงานเดิม ๆ ที่แต่ละแผนกในบริษัทมุ่งแต่การทำงานในส่วนของตัวเอง และเปิดสู่ยุคการทำงานร่วมกันของทุกส่วนงานและทุกคน โดยแพลตฟอร์มสนับสนุนการทำงานร่วมกัน (collaboration platforms) จะเริ่มถูกบูรณาการด้วยระบบของข้อมูล ช่วยให้พนักงานทำงานกับชุดเทคโนโลยีต่างๆ ขององค์กรได้ง่ายขึ้น
ปัจจุบัน บริษัทต่างๆ ขานรับผลสำเร็จของแนวโน้มนี้ และเชื่อว่าจะเห็นการเดินหน้ามากขึ้น ขณะที่ ในส่วนของเครื่องมือสนับสนุนการทำงานร่วมกันที่โดดเด่นอย่างมาก ในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิดที่ผ่านมา ได้แก่ โปรแกรมจัดประชุมสัมมนาทางออนไลน์อย่าง Microsoft Teams และ Zoom ต่างก็เร่งอัดฉีดการลงทุนติดตั้งฟีเจอร์การทำงานและตัวช่วยใหม่ๆ เพิ่มเติม เพื่อตอกย้ำบทบาทการเป็นเครื่องมือช่วยเพิ่มประสิทธิผลสำหรับรูปแบบการทำงานร่วมกันในแบบ new normal
การทำงานร่วมกัน (collaboration) ยังหมายรวมถึงการทำงานร่วมกันทั้งในโลกกายภาพและดิจิทัล นำโลกทั้งสองมาทับซ้อนกันได้อย่างแท้จริง อีกทั้งจะขยายขอบเขตสู่การเชื่อมต่อกับ 5G โลกเมตาเวิร์ส และปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยจะไม่จำกัดที่การทำงานร่วมกันผ่านการประชุม หรือการจัดงาน แต่ยังหมายถึงการเกิดประสบการณ์ร่วมกันด้วย
EV + AV : รถยนต์และรถบรรทุกที่ฉลาดยิ่งขึ้น
ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยียานยนต์ ถูกขับเคลื่อนด้วยความเร็วที่ทะยานเหนือขีดจำกัด (hyperdrive) ด้วยแรงส่งทั้งจากการจับมือเป็นพันธมิตรกัน การลงทุน และการพัฒนาเทคโนโลยีโดยบริษัทใหญ่หลายราย ได้แก่ Qualcomm, Mobileye, NVIDIA, Marvell และ Luminar เป็นต้น ซึ่งทุ่มเดิมพันกับการพัฒนารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยซอฟต์แวร์ ที่จะเป็น “รถยนต์แห่งอนาคต”
ขณะเดียวกัน ค่ายรถยนต์ระดับโลกต่างก็พาเหรดกันเข้าวงการนี้ ทั้ง Mercedes, VW, BMW และ GM ที่กำลังเปลี่ยนแปลงจากบทบาทผู้ผลิตรถยนต์มาสู่การเป็นบริษัทผลิตชิป เพื่อใช้กับการพัฒนารถยนต์แห่งอนาคต ที่อยู่บนแพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์อัจฉริยะ
ประเภทของรถยนต์แห่งอนาคตที่จะขับเคลื่อนด้วยซอฟต์แวร์และระบบอัตโนมัติ ยังรวมไปถึงรถบรรทุกพ่วง (semitrucks) โดยเริ่มเห็นตัวเลขการทำข้อตกลงระหว่างบริษัทเทคโนโลยียานยนต์ และบริษัทรับจ้างผลิต (OEMs) เพื่อร่วมกันผลิตรถที่ติดตั้งเทคโนโลยีสำหรับยุคหน้าออกสู่ตลาด
ทักทาย AI (Artificial Intelligence)
เทคโนโลยีการวิเคราะห์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะแพร่กระจายเข้าไปอยู่ในทุกส่วนของชีวิตและธุรกิจ อีกทั้ง AI จะสร้างผลกระทบในเชิงลึกให้กับเทคโนโลยีมาแรงอื่นๆ ตั้งแต่ยานยนต์ไร้คนขับ ไปจนถึง multi cloud เพื่อสร้างประสบการณ์ทำงานร่วมกันที่ดียิ่งขึ้น โดย AI จะเป็นเทคโนโลยีที่เข้าไปฝังตัวอยู่ในสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน และการทำงานมากขึ้นเรื่อย ๆ ตัวอย่างเช่น การปรับปรุงอย่างต่อเนื่องของระบบ AI ที่ช่วยในการโต้ตอบ (conversational AI systems) เพื่อช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับแบรนด์จากการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า อีกทั้ง จะเห็นการปรับปรุงประสิทธิภาพของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ใหม่ๆ เพื่อทำให้การมีปฏิสัมพันธ์กับเครื่องจักรทำได้โดยไร้รอยต่อมากที่สุก
เราจะเห็นความสามารถของ AI และการเรียนรู้ของเครื่องจักร (ML) ในการเข้าใจพฤติกรรมของเรา และให้คำแนะนำอย่างชาญฉลาด เกี่ยวกับสินค้าที่ซื้อ ร้านอาหาร บุคคลที่เราควรคุยด้วย และวิธีการทำงาน โดยสิ่งเหล่านี้จะค่อยๆ แทรกซึมเข้ามาอยู่ในชีวิต และแทบกลายเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ดิจิทัลของเรา
นอกจากนี้ ยังช่วยยกระดับปฏิสัมพันธ์และ feedback ขณะที่กำลังมีการใช้งานแอป (in-app experiences) และช่วยส่งมอบประสบการณ์แก่ลูกค้าในเชิงรุกได้ดียิ่งขึ้น
ใส่เกียร์เร่ง Multi cloud
ภาพของการยกระดับการใช้โครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ในรูปแบบ hybrid cloud ที่ครองความนิยมมาก่อนหน้านี้ มาสู่ multi cloud ที่ใช้บริการจากหลากหลายค่าย จะเห็นได้อย่างชัดเจนในปี 2023 เพราะองค์กรต่างๆ เห็นถึงประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดขึ้นจากการใช้คลาวด์ ผ่านผู้ให้บริการแบบไม่ผูกขาด โดยเลือกข้อเสนอที่ดีที่สุด ในประสิทธิภาพที่คุ้มราคามากกว่าเจ้าอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางบริบทของสภาพแวดล้อมระดับมหภาค (macroenvironment) ที่เพิ่มความยากลำบากให้กับการทำธุรกิจในปัจจุบัน
ทั้งนี้ จะเห็นความเคลื่อนไหวของผู้ให้บริการ public cloud ซึ่งพร้อมมอบข้อเสนอที่ยืดหยุ่นมากขึ้นต่อการเพิ่มปริมาณการใช้งานในอนาคต ทั้งในเรื่องการปรับแต่งตามความต้องการใช้งาน โดยเฉพาะการจัดการเรื่องการทำ redundancy ของข้อมูล, การขยายตัวของระบบเพื่อรองรับปริมาณและความต้องการของผู้รับบริการ (scalability), การปฏิบัติตามกฎระเบียบ/กฎหมาย (compliance) และความท้าทายอื่นๆ
นอกจากนี้ ยังเห็นแนวโน้มเพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ ที่นำเสนอ open-source solutions และการปรับเปลี่ยนระบบเป็นส่วนย่อย ๆ หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบได้ (modular offerings) ทำให้ระบบอัตโนมัติสามารถจัดการภาระงานจำนวนมากข้ามสภาพแวดล้อมไอที่ได้ง่ายยิ่งขึ้น
ความต้องการ XaaS ปะทะความซับซ้อนทางเศรษฐกิจ
รูปแบบธุรกิจแนวใหม่ที่เรียกว่า Anything as a service model (XaaS) ซึ่งพร้อมนำเสนอการให้บริการในทุกๆ อย่าง โดยอาศัยหลักการ และจุดเด่นของคลาวด์ Cloud computing ที่ฉายแววขาขึ้นมาในปีก่อนหน้า จะติดสปีดความแรงยิ่งขึ้นในปี 2023 ซึ่งค่าใช้จ่ายในการลงทุน (Capital expenditures) และการใช้จ่ายเกินตัวไปกับเรื่องซอฟต์แวร์ที่ไม่ได้นำมาใช้งาน และโครงสร้างพื้นฐาน จะถูกแทนที่ด้วยค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจ (operational expenses) ที่จ่ายเฉพาะกับสิ่งที่จำเป็น ส่งผลให้เห็นบริษัทหลักๆ ออกแบบทิศทางใหม่เพื่อมุ่งนำเสนอแทบทุกผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ไปสู่ลูกค้าในรูปแบบการบริการ (as a service) ผ่านคลาวด์
ในภาวะที่ยังคงเผชิญหน้าอยู่กับสภาพเศรษฐกิจถดถอย องค์กรปรับลดงบประมาณและจำกัดค่าใช้จ่าย สถานการณ์นี้จะกลายเป็นปัจจัยสนับสนุนบริการ/ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ผ่านรูปแบบธุรกิจ XaaS โดยองค์กรไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อขาดทรัพยากรที่ต้องใช้สำหรับดำเนินธุรกิจ แต่เลือกจ่ายได้ตามความต้องการใช้งานที่เพิ่มขึ้น หรือน้อยลง ครอบคลุมตั้งแต่ multi cloud, security และบริการที่สนับสนุนการทำงานร่วมกัน (collaboration services) แนวโน้มนี้ยังกลายเป็น “ทางออก” สำหรับบริษัทด้านเทคโนโลยีที่ต้องต่อสู้กับภาวะรายได้ลดลง และแนวปฏิบัติที่สร้างข้อจำกัด ให้ปรับเปลี่ยนตัวเองจากการยึดติดรายได้ในการขาย License มาสู่การมอบข้อเสนอที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ อีกทั้งในระยะยาวเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว รูปแบบของธุรกิจ XaaS ก็ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อ ด้วยจุดเด่นของรูปแบบการบริโภค (consumption model)ที่มาพร้อมความสะดวกสบาย
ทั้งนี้ในการที่องค์กรจะเกาะติดแนวโน้มเรื่องข้างต้นได้นั้นต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่มีความมั่นคง แข็งแรง และครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็น 5G, Cloud หรือ Digital Infrastructure อื่น ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมาย และพร้อมก้าวสู่การเป็นองค์กรรูปแบบดิจิทัลต่อไป
วันที่เผยแพร่ 7 กุมภาพันธ์ 2566
Reference
AIS Business พร้อมเป็นพันธมิตรดิจิทัล ที่มั่นใจได้ เพื่อพัฒนาธุรกิจและสังคมไทย
เติบโต อุ่นใจ ไปด้วยกัน
"Your Trusted Smart Digital Partner"
ปรึกษาและวางแผนพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรองรับการทำงานและต่อยอดธุรกิจได้ที่
Email : [email protected]
Website : https://www.ais.th/business
สามารถติดต่อผู้เชี่ยวชาญจาก AIS Business เพื่อให้คำปรึกษาและวางแผนพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล
สำหรับรองรับการทำงานและต่อยอดธุรกิจได้ทันที