จับตา 10 เทรนด์แรง “คลาวด์ คอมพิวติ้ง” ปี 2023

              รายงาน Gartner Top 10 Strategic Technology Trends for 2023 ของการ์ทเนอร์ [1] คัดเลือกให้แพลตฟอร์มคลาวด์สำหรับอุตสาหกรรม (Industry cloud platform) เป็น 1 ใน 10 แนวโน้มเทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ที่องค์กรต่างๆ ห้ามตกขบวนสำหรับการวางแผนลงทุนด้านไอทีในปี 2023  เพื่อปรับองค์กรให้ก้าวทันทุกความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ หนุนเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพ ในบริบทของการปรับรูปแบบกระบวนการทำงานสู่ดิจิทัล  (Digital Transformation)

              ขณะที่ เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจระดับโลก ดีลอยท์ ก็ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับแนวโน้มตลาดคลาวด์ จากมุมมองผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Salesforce [2]

[1] Gartner, “Gartner Top 10 Strategic Technology Trends for 2023”, From : https://www.gartner.com/en/articles/gartner-top-10-strategic-technology-trends-for-2023 
[2] Mike Bechtel , “My take: Jujhar Singh, executive vice president and general manager, industry clouds, Salesforce”, From: https://www2.deloitte.com/us/en/insights/focus/tech-trends/2023/industry-cloud-adoption-driving-digital-transformation.html

              ที่ประมาณการณ์ขนาดของตลาดคลาวด์ คอมพิวติ้ง ว่ามูลค่าจะขยายตัวแตะหลัก 650 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใน 2 ปีข้างหน้า โดยมีคลาวด์สำหรับอุตสาหกรรม (Industry cloud) เป็นแรงส่งหลัก จากปัจจัยขับเคลื่อนดังต่อไปนี้

เจาะลึก 4 ปัจจัยเพิ่มแรงส่งตลาดคลาวด์

              1.ไม่มีข้อจำกัดด้าน “ขนาด” ของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เพราะองค์กรตั้งแต่บริษัทใหญ่ระดับโลก ลงมาจนถึงนักพัฒนาแอป หรือบริษัทในกลุ่มบริการเฉพาะกิจ (Professional services firms) ล้วนสามารถได้รับประโยชน์จากคลาวด์ และประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงรับยุค Digital Transformation ได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystem) ของผู้ค้า (Vendors) เติบโตตามเช่นกัน จำนวนผู้ค้าที่หลากหลาย จะช่วยจัดหาบริการได้แตกต่างตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า

              2.ลูกค้าต้องการปรับกระบวนการทำงานสู่รูปแบบดิจิทัล (Digital transformation) อย่างรวดเร็ว ผลักดันให้มีการใช้งานคลาวด์สำหรับอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง สถานการณ์แพร่ระบาดโควิดฯ ที่ผ่านมา เปรียบเสมือน “นาฬิกาปลุก” ให้บริษัทต่างๆ “ตื่น” และ “ตระหนัก” ว่าการปรับองค์กรสู่ดิจิทัล จำเป็นต้องเกิดขึ้นภายในไม่กี่สัปดาห์​ หรือไม่กี่เดือน ไม่ใช่ใช้เวลาเป็นปี และการใช้ซอฟต์แวร์ที่อยู่บนคลาวด์ (Cloud-based software) คือเครื่องมือที่ช่วยให้ง่ายต่อการปรับใช้งานตามความต้องการลูกค้าเฉพาะราย (Customize) ยกตัวอย่างเช่น ลูกค้าในธุรกิจบริการด้านการเงิน จะต้องการโซลูชันสำคัญด้าน  บริการธนาคารสำหรับรายย่อย/ลูกค้าธุรกิจ (Commercial/Retail banking), การบริหารสินทรัพย์และความมั่งคั่ง (Wealth and Asset management) เป็นต้น

              3.ธุรกิจต้องการก้าวฝ่าเส้นเขตแดนของรูปแบบการทำงาน ที่ขาดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามส่วนงาน (Cross-silo) ซึ่งคลาวด์ จะเข้ามาเป็นเครื่องมือทลายข้อจำกัดแบบเดิม ๆ สร้างมิติการทำงานยุคใหม่ที่มีจุดร่วมอยู่ที่ “ผลลัพธ์ทางธุรกิจ” ทั้งนี้ ระบบคลาวด์แบบเจาะลึก (Vertical clouds) จะช่วยองค์กรในด้านความยืดหยุ่น และสามารถโฟกัสกับผลลัพธ์ได้มากยิ่งขึ้น

              4.คลาวด์สำหรับอุตสาหกรรม ช่วยให้บริษัทต่างๆ มุ่งไปที่ทรัพยากรสำคัญที่สุดในยุคดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน คือ ข้อมูล (Data) จำนวนมหาศาลที่มาจากหลากหลายแหล่ง โดยการใช้ระบบคลาวด์บนแพลตฟอร์มต่างๆ จะสนับสนุนการขยายความสามารถที่เกิดจากการรวมแอปพลิเคชันต่างๆ เข้ากับกระบวนการทำงานสำหรับธุรกิจเฉพาะ หรือกระบวนการที่ออกแบบไว้สำหรับลูกค้าเฉพาะราย และเครื่องมือในการทำงาน เช่น ระบบอัตโนมัติ ระบบวิเคราะห์ และ AI เป็นต้น เพื่อช่วยให้องค์กรบริหารจัดการข้อมูล และใช้งานซ้ำได้ตลอดกระบวนการทำงาน ลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็น มีเวลามากขึ้นในการทำกิจกรรมด้านลูกค้าสัมพันธ์ ก้าวนำหน้าคู่แข่งในตลาด

10 แนวโน้มคลาวด์มาแรง

              ด้านเว็บไซต์ Analytics insight [3] คาดการณ์ว่า ในปี 2023 เทคโนโลยีคลาวด์ จะถูกคาดหวังยิ่งขึ้นจากศักยภาพอันโดดเด่นในปีก่อนหน้า ที่ช่วยให้บริษัทจำนวนมากบรรลุก้าวสำคัญในการปรับรูปแบบการทำธุรกิจ ท่ามกลางความยากลำบาดของสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19  ซึ่งกดดันให้ใม่ว่าบริษัทเล็ก-ใหญ่ ต้องเร่งสปีดนำดิจิทัลเข้ามาใช้ในกระบวนการทำงาน ตัวอย่างที่โดดเด่น อย่างเช่น การให้พนักงานเปลี่ยนรูปแบบการทำงานจากนอกออฟฟิศ (Remote working) ภายใต้โจทย์ข้อใหญ่คือ “การทำงาน/ธุรกิจต้องไม่สะดุด”  

[3] Jayanti, “Top 10 Cloud Computing Trends and Predictions to Follow in 2023”, From: https://www.analyticsinsight.net/top-10-cloud-computing-trends-and-predictions-to-follow-in-2023/

              ทั้งนี้ บทบาทที่จะเห็นชัดเจนยิ่งขึ้นจากนี้ไป ก็คือ การใช้ประโยชน์ต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนการเติบโต โดยเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่บริษัทต่างๆ ใช้เพื่อปรับรูปแบบการทำงานให้ทันสมัย ขยายความสามารถระบบไอทีขององค์กร เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากทรัพย์สินอันทรงพลังขององค์กร คือ ข้อมูล (Data) ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะสามารถ “เข้าถึง” ชุดข้อมูลได้อย่างสะดวกทันใจบนเครือข่ายคลาวด์

              โดยทาง Analytics insight คาดการณ์ 10 แนวโน้มสำคัญของคลาวด์ คอมพิวติ้ง ที่จะเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กรและการทำธุรกิจ ที่ในยุคที่ต้องปรับให้ก้าวทันสปีดของดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน ที่เพิ่มระดับอัตราเร่งหลายเท่าตัวจากยุคก่อนโควิด ประกอบด้วย

1.การเพิ่มระดับการลงทุนด้านการรักษาความปลอดภัย และรับมือภัยคุกคามบนคลาวด์

              การปรับเปลี่ยนสู่ระบบคลาวด์ สร้างโอกาสมหาศาล เพิ่มประสิทธิภาพ และความสะดวกสบายในการทำงาน แต่ขณะเดียวกัน ก็ทำให้องค์กรและบริษัทต่างๆ มีความเสี่ยงจากภัยคุกคามใหม่ๆ ทางไซเบอร์เช่นกัน

              ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ความท้าทายที่องค์กรธุรกิจต้องเผชิญจากกฎหมายใหม่ๆ อย่างเช่น การจัดเก็บและใช้งานข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งนั่นอาจหมายถึง ค่าปรับจำนวนมหาศาลหากข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าที่จัดเก็บไว้บนคลาวด์ถูกแฮก และเลวร้ายกว่านั้นคือ ลูกค้าหมดความไว้วางใจ  ดังนั้น การลงทุนด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ และการปกป้องข้อมูลไม่ให้สูญหาย จึงมีแนวโน้มเป็นการลงทุนที่มีความสำคัญลำดับแรกๆ ของธุรกิจทั่วโลก

              และแม้ว่าหลายบริษัทจะตัดค่าใช้จ่ายเพื่อรับมือกับคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่การลงทุนด้าน Cloud Security ก็ยังมีโอกาสอยู่จากนวัตกรรม และวิธีการที่สามารถช่วยให้เกิดการลงทุนที่ได้ประสิทธิภาพสูงสุด (Cost-efficient) ในการปกป้องความปลอดภัยบนไซเบอร์ ที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่ามากสุดกับเงินที่ลงไป (Bang for the buck) ดังนั้น จะเห็นการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีการพยากรณ์ (Predictive technology) เข้ามาช่วยออกแบบเพื่อระบุภัยคุกคามได้ทันก่อนจะสร้างปัญหา อีกทั้ง มีแนวโน้มที่ธุรกิจต่างๆ จะใช้บริการด้านการจัดการเรื่องความปลอดภัยในรูปแบบ “Security-as-a-service” จากผู้ให้บริการภายนอกมากขึ้น

2.กลยุทธ์ “Multi-cloud” ต้องมา

              นับจากนี้ไป  การใช้บริการ Hybrid cloud ที่ควบคู่กันทั้งPrivate cloud และ Public cloud จะไม่เพียงพออีกต่อไปสำหรับองค์กรยุคใหม่ ถึงเวลาที่ต้องขยับมาสู่การวางกลยุทธ์ด้าน Multi-cloud เปิดกว้างเลือกใช้บริการ Public cloud จากผู้ให้บริการหลายรายไปพร้อมๆ กัน เพื่อเพิ่มความคุ้มค่าและลดความเสี่ยงในการใช้ลงทุนด้านคลาวด์ เพราะทำให้เข้าถึงการใช้ประโยชน์จากบริการที่หลากหลายบนคลาวด์ได้มากขึ้น ผ่านช่องทางของผู้ให้บริการคลาวด์รายต่างๆ ปรับปรุงความยืดหยุ่นในการใช้งาน และมีความปลอดภัยบนคลาวด์สูงขึ้น

              กลยุทธ์ Mutli-cloud ยังปลดล็อกไม่ให้ต้องผูกติดอยู่กับระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystem) ของผู้ให้บริการคลาวด์เพียงรายใดรายหนึ่ง ที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานหรือการใช้บริการ กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงแอปพลิเคชันในการสนับสนุนลูกค้า หรือการหยุดสนับสนุนแอปพลิเคชันใดๆ

3.คลาวด์ที่ขับเคลื่อนด้วยความสามารถของ AI และ ML (Machine learning)

              เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเรียนรู้ด้วยตัวเองของเครื่องคอมพิวเตอร์ (Machine learning : ML) ถูกติดตั้งไว้ในบริการคลาวด์ (Cloud services) เพื่อปิดช่องว่างของตลาด ที่ปัจจุบันธุรกิจส่วนใหญ่ มีทรัพยากรไม่เพียงพอสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI ขององค์กรเอง เนื่องจากจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงจำนวนมาก และพื้นที่จัดเก็บจำนวนมหาศาล สำหรับการรวบรวมข้อมูล และสร้างอัลกอริทึมเพื่อสอนให้เครื่องเข้าใจความหมายของข้อมูลเหล่านั้น (Training algorithms)  โดยธุรกิจสามารถเข้ามาใช้บริการนี้ได้ในรูปแบบการเช่าใช้ (Rent as-a-service) จากผู้ให้บริการคลาวด์

4. บริการ Low-code และ No-code คลาวด์แพลตฟอร์ม

              ความนิยมของเครื่องมือและแพลตฟอร์ม ที่ช่วยให้สามารถสร้างแอปพลิเคชัน และใช้ข้อมูลเพื่อแก้ปัญหา โดยผู้พัฒนาไม่จำเป็นต้องเขียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Code) กระแสยังแรงต่อเนื่อง โดยโซลูชั่นในกลุ่ม low-code และ no-code solutions ครอบคลุมถึง เครื่องมือพัฒนาเว็บไซต์ และเว็บ แอปพลิเคชัน รวมถึงการออกแบบเว็บ และโซลูชันด้านดิจิทัลอื่นๆ ที่บริษัทต้องการใช้งาน

              นอกจากนี้ Low-code และ no-code solutions ยังนำไปใช้สำหรับพัฒนาแอปพลิเคชันที่ติดตั้ง AI ช่วยลดอุปสรรคให้กับบริษัทที่ต้องการนำ AI และ ML เข้ามาช่วยในการดำเนินธุรกิจ

5. นวัตกรรม และการหลอมรวมเกมบนคลาวด์

              คลาวด์ คอมพิวติ้ง เป็นแรงส่งให้กับบริการสตรีมมิ่งหลากหลายเจ้า อย่างเช่น Netflix และ Spotify โดยเข้ามาปฏิวัติวิธีการเสพสื่อบันเทิงทั้ง ภาพยนตร์ ทีวี และเพลง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของวิดีโอเกมบนสตรีมมิ่ง ดูเหมือนจะใช้เวลานานเป็นพิเศษ ที่จะปลุกกระแสความนิยมในตลาด อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าแนวโน้มนี้เกิดแน่นอน เห็นได้จากรายชื่อผู้เล่นเบอร์ใหญ่ที่ทยอยส่งบริการเกมสตรีมมิ่งบนคลาวด์ลงสนามแล้ว ได้แก่ ไมโครซอฟท์ โซนี่ อเมซอน และ Nvidia เป็นต้น

6. ผนวกการติดตั้งใช้งานจาก Cloud ถึง Edge

              Edge computing เป็นวิธีการใหม่ในการประมวลผลข้อมูล ในส่วนการทำงานที่ไม่ได้เกิดขึ้นกายในดาต้า เซ็นเตอร์ แต่เกิดขึ้นที่อุปกรณ์ที่อยู่ในเครือข่าย หรือใกล้กับอุปกรณ์ปลายทางของเครือข่าย  โดยในปี 2023 คอมพิวเตอร์เอดจ์ จะมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะบริษัทจำนวนมากขึ้น มีแนวโน้มจะผสานรวมคลาวด์ เข้ากับอุปกรณ์ปลายทาง (edge devices) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

7. ขาขึ้นของการประมวลผลแบบไร้เซิร์​ฟเวอร์​

              การประมวลผลแบบไร้เซิร์ฟเวอร์ (Serverless computing) เป็นคลาวด์รูปแบบหนึ่ง ซึ่งผู้บริโภคใม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่บนเครื่องแม่ข่าย (เซิร์ฟเวอร์) และการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ ผู้ให้บริการคลาวด์ จะดูแลเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ควบคู่กับการจัดสรรทรัพยากรสำหรับใช้ในการประมวลผลให้สอดคล้องไปกับความต้องการใช้งานของลูกค้า โดยเทคโนโลยีการประมวลผลรูปแบบนี้ เป็นประโยชน์กับลูกค้าภาคธุรกิจ เนื่องจากไม่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายแบบคงที่ ในส่วนของค่าบริการพื้นที่จัดเก็บข้อมูล (storage) และแบนด์วิธ  โดยจะเป็นการจ่ายตามการใช้งานจริง (pay-as-you-go service) ให้กับผู้ให้บริการคลาวด์

8. บล็อกเชน (Blockchain)

              บล็อกเชน (Blockchain) คือ เทคโนโลยีที่ไม่ต้องมี สถาบันการเงิน, สำนักชำระบัญชี หรือ หน่วยงานกลางของรัฐบาลในการทำธุรกรรม ทั้งนี้ แม้ถูกมองว่าเทคโนโลยีนี้เป็น “ตัวเปลี่ยนเกม”

              แต่ก็ยังมีปัญหาในเรื่องการขยายขนาด (scaling) เพื่อรองรับปริมาณข้อมูลจำนวนมากๆ โดยเฉพาะในแง่ของพื้นที่การจัดเก็บ และการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data)  ดังนั้นในปี 2023 เชื่อว่าเราจะได้เห็นบริษัทต่างๆ ติดตั้งใช้งานบล็อกเชน รวมถึงองค์ประกอบต่างๆ ผ่านการประมวลผลบนคลาวด์มากขึ้น และเพิ่มบทบาทเป็นหนึ่งในแนวโน้มสำคัญของคลาวด์

9. อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things: IoT)

              หนึ่งในเทรนด์อนาคตของคลาวด์ คอมพิวติ้ง ซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุด ก็คือ IoT เทคโนโลยีที่ช่วยให้อุปกรณ์ต่างๆ เชื่อมต่อระหว่างกันผ่านเครือข่ายได้ ช่วยรวบรวมข้อมูลจากอุปกรณ์ที่อยู่ห่างไกล  ซึ่งข้อมูลที่รวบรวมได้จะถูกเก็บไว้ในคลาวด์ ทำให้เกิดการทำงานแบบไร้รอยต่อ อีกทั้งช่วยให้เกิดโซลูชันมากมาย เช่น ในเรื่องการแจ้งเตือนเพื่อช่วยเมื่อเกิดปัญหา หรือการรักษาความปลอดภัยบนคลาวด์ เพื่อสร้างความมั่นใจต่อสภาพแวดล้อมคลาวด์ที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น  

10. ยุคของเครื่องมือโอเพ่นซอร์ส “Kubernetes”

              ก้าวไปข้างหน้ากับโลกแห่งระบบอัตโนมัติ เครื่องมือช่วยในการปรับใช้สำหรับระบบบริหารจัดการทรัพยากรได้อย่างอัตโนมัติ “Kubernetes” จะเข้ามาช่วยการทำงานบนระบบเครือข่ายคลาวด์  ให้ก้าวตามได้ทันกับระบบนิเวศทางธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ Kubernetes คือ แพลตฟอร์มโอเพ่นซอร์ส ที่สามารถปรับขยายได้สำหรับบริหารจัดการที่สอดคล้องกับบริการ และปริมาณงาน (Workloads) ด้วยการปรับใช้แอปพลิเคชัน และทำงานจากส่วนกลาง  จึงเพิ่มประสิทธิภาพ และประหยัดเวลาให้สั้นลง

              เมื่อคลาวด์ คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะช่วยให้การทำ Digital Transformation ขององค์กรเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ AIS Business จึงมุ่งคิดค้นพัฒนาร่วมกับพาร์ทเนอร์ระดับโลกเพื่อสร้าง Digital Ecosystem ให้สอดคล้องกับทิศทางและตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง  ทำให้วันนี้เรามีความพร้อมในการส่งมอบโซลูชันคลาวด์แบบ Total Solution ที่มีความหลากหลายในระบบประมวลผล Compute ที่ลูกค้าสามารถเลือกใช้ได้ตามโจทย์ทางธุรกิจที่แตกต่างกัน อีกทั้งยังสามารถ Connect เชื่อมต่อการประมวลผลกับโครงข่าย 5G และ MEC และสุดท้ายจะช่วยให้ภาคธุรกิจ องค์กร ใช้งานโซลูชันคลาวด์ได้อย่าง Complete ยกระดับความสามารถขององค์กรให้พร้อมต่อความท้าทายใหม่ๆ ในบริบทโลกที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สำหรับผู้ที่สนใจบริการ “AIS Cloud X” หรือโซลูชันใด ๆ ภายในระบบนิเวศคลาวด์อัจฉริยะ สามารถติดต่อทาง AIS Business ได้ทุกช่องทาง ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของ AIS Business Cloud https://www.ais.th/business/enterprise/technology-and-solution/cloud-and-data-center

วันที่เผยแพร่ 12 มกราคม 2566

Reference

AIS Business พร้อมเป็นพันธมิตรดิจิทัล ที่มั่นใจได้ เพื่อพัฒนาธุรกิจและสังคมไทย
เติบโต อุ่นใจ ไปด้วยกัน
"Your Trusted Smart Digital Partner"

ปรึกษาและวางแผนพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรองรับการทำงานและต่อยอดธุรกิจได้ที่
Email : [email protected]
Website : https://www.ais.th/business

ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อแนะนำโซลูชันที่เหมาะกับธุรกิจของคุณ 

สามารถติดต่อผู้เชี่ยวชาญจาก AIS Business เพื่อให้คำปรึกษาและวางแผนพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล 
สำหรับรองรับการทำงานและต่อยอดธุรกิจได้ทันที