เทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการอาคารอัจฉริยะ

              ปัจจุบันเทรนด์การดำเนินธุรกิจด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ไม่ได้มุ่งเน้นที่การสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกทั่วไปเหมือนในอดีต โดยศูนย์วิจัยธนาคารกรุงเทพ ได้ทำการศึกษาและพบว่า ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เริ่มให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการอาคารอัจฉริยะด้วยแนวคิด Environment, Social, Governance หรือ ESG มากขึ้น ซึ่งแนวคิดนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในกลุ่มนักลงทุน และผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก 

              โดยรูปแบบการบริหารจัดการแบบ ESG จะช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปพร้อม ๆ กับการลดการทำลายสิ่งแวดล้อมได้ อีกทั้งยังช่วยประหยัดพลังงาน ลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการในระยะยาว และสร้างความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นอาคารสำนักงาน, อาคารที่อยู่อาศัย, โรงงาน, โรงแรม, โรงพยาบาล หรือคลังสินค้า สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการให้อาคารแบบเดิมกลายเป็นอาคารอัจฉริยะได้ ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้อย่างเหมาะสม เพื่อประโยชน์อย่างยั่งยืนในระยะยาว

2232929415

การเติบโตอย่างน่าสนใจของตลาดอาคารอัจฉริยะ 

              ด้วยความเจริญในทุกด้าน และการขยายตัวของเมืองที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ประชากรมีความคาดหวังว่า ในพื้นที่ที่ตนเองอยู่ จะมีอาคารอันทันสมัยเพื่อการทำงานที่มีความยั่งยืน และการดำรงชีวิตที่มีความปลอดภัย โดย MarketsandMarkets บริษัทที่ปรึกษาด้านการตลาด ได้ทำการศึกษาตลาดอาคารอัจฉริยะและระบุว่า ตลาดอาคารอัจฉริยะทั่วโลกมีขนาดอยู่ที่ 72.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 โดยคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้นอยู่ที่ CAGR 10.9% และจะมีมูลค่าตลาดมากกว่า 121.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2569

              และในปี 2564 เช่นเดียวกัน มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ได้เปิดตัวศูนย์วิจัยแห่งใหม่ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและให้ความรู้เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ อีกทั้งยังเร่งฝึกอบรมเกี่ยวกับเทคโนโลยี 5G เพื่อการจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกอัจฉริยะภายในอาคาร เพิ่มศักยภาพทางด้านดิจิทัลให้แก่อุตสาหกรรมภาคการผลิต และการก่อสร้างของประเทศสิงคโปร์

              นอกจากนี้รัฐบาลสิงคโปร์ ยังได้ริเริ่มโครงการ Smart Nation และ Green Mark Scheme โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ปี 2573 ประเทศสิงคโปร์จะมีอาคารอัจฉริยะถึง 80% และจะมีระบบการบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะที่มีความยั่งยืน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยลดภาวะโลกร้อน และช่วยให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มีภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานน้อยลง

              จากข้อมูลที่กล่าวมานี้สะท้อนให้เห็นว่า เทคโนโลยีเพื่ออาคารอัจฉริยะได้รับความสนใจ และถูกนำมาปรับใช้อย่างจริงจัง จนเกิดเป็นมูลค่าทางการตลาดจำนวนมหาศาล ที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ควรเร่งศึกษา และปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการ รวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกภายในอาคารใหม่ เพื่อรองรับลูกค้าที่มีความต้องการที่หลากหลาย และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ

เทคโนโลยีและอาคารอัจฉริยะช่วยเพิ่มโอกาสทางการตลาด

              เทคโนโลยีถูกนำมาใช้เพื่อช่วยประหยัดพลังงานให้กับอาคารอัจฉริยะ ทั้งระบบน้ำและไฟฟ้า โดยมีข้อมูลจาก Whitepaper ของ Schneider Electric ระบุว่า อาคารเป็นหนึ่งในสาเหตุของการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากถึง 36% และยังทำให้เกิดความสิ้นเปลืองด้านต้นทุนการดำเนินงาน ที่รวมไปถึงค่าบำรุงรักษาโดยรวมทั้งหมดด้วย

              ด้วยเหตุนี้แนวความคิด ESG จึงเกิดขึ้น พร้อม ๆ กับความต้องการด้านเทคโนโลยีที่มีศักยภาพด้านการช่วยควบคุม และประหยัดพลังงาน นำไปสู่การเลือกใช้โซลูชั่นเพื่ออาคารอัจฉริยะที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก เช่น เทคโนโลยี 5G, IoT และ AI เป็นต้น โดยจากข้อมูลของ MarketsandMarkets ระบุว่า เทคโนโลยีต่าง ๆ จะช่วยลดการใช้พลังงานได้ประมาณ 40% และช่วยประหยัดค่าบำรุงรักษาโดยรวม 10-30% ดังนั้นการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะเข้ามาใช้ภายในอาคารจึงเป็นตัวช่วยเพิ่มโอกาสในการเติบโตของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ได้ โดยเทคโนโลยีภายในอาคารที่น่าสนใจได้แก่

              1.เทคโนโลยีการสื่อสาร 5G  สำหรับช่วยควบคุมจัดการเครือข่ายการสื่อสารภายในอาคารอัจฉริยะให้มีศักยภาพมากขึ้น สามารถใช้ควบคุมการทำงานของ AI, IoT และระบบอัตโนมัติ ด้วยการเชื่อมต่อข้อมูลด้วยความเร็วสูง พร้อมความจุจำนวนมหาศาล และเวลาแฝงที่ต่ำ ทำให้ระบบต่าง ๆ ภายในอาคารอัจฉริยะมีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น ทำงานได้เร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพที่น่าเชื่อถือ ที่สำคัญคือ เทคโนโลยีการสื่อสาร 5G ยังใช้พลังงานในการทำงานต่ำ จึงช่วยลดการสร้างมลภาวะที่เป็นสาเหตุของการทำลายสิ่งแวดล้อมลงได้

              2.เทคโนโลยีด้านการจัดการความปลอดภัย เริ่มตั้งแต่ระบบควบคุมการเข้า-ออกอาคาร ด้วยการทำงานขั้นพื้นฐานอย่างระบบ Keycard Access และการติดตั้งกล้องวงจรปิด ไปจนถึงระบบแจ้งเตือนอัคคีภัย โดยระบบเหล่านี้จะได้รับการบูรณาการใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการประมวลผลข้อมูลเชิงลึกจาก AI และการติดตั้งเซนเซอร์ระบบ IoT เพื่อการติดตามและควบคุมอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยทั้งหมด และยังรวมไปถึงระบบ License Plate Recognition (LPR) สำหรับจดจำป้ายทะเบียนรถที่มีศักยภาพในการประมวลผลได้เร็ว สามารถอ่านป้ายทะเบียนรถได้ทั้งรถที่จอดอยู่กับที่ หรือกำลังเคลื่อนไหว นอกจากนี้ยังมีระบบควบคุมไบโอเมทริกซ์ และการสั่งงานด้วยเสียง ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อความปลอดภัย

              และไบโอเมทริกซ์ เริ่มมีการนำเข้ามาใช้กันอย่างกว้างขวางแล้วในอาคารอัจฉริยะต่าง ๆ ภายในประเทศไทย แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปมาก ทำให้ระบบเหล่านี้จะยังคงได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ได้นำไปใช้งานกันมากขึ้น ช่วยเพิ่มความปลอดภัยภายในอาคาร และยังสามารถควบคุมจากระยะไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไบโอเมทริกซ์จะทำหน้าที่จดจำใบหน้าของผู้ที่ผ่านเข้า-ออกอาคาร ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเรียกประวัติย้อนหลังขึ้นมาเพื่อทำการตรวจสอบได้ ส่วนระบบอัตโนมัติจะถูกนำมาใช้งานในส่วนของการควบคุมการสั่งงานด้วยเสียง ที่สามารถโต้ตอบกับผู้ใช้งานได้ อย่างการติดต่อเจ้าหน้าที่อาคาร ติดต่อเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย หรือติดต่อหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน เป็นต้น

              3. เทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการพลังงาน สามารถควบคุมการเปิด-ปิดการใช้งานด้วยระบบเซนเซอร์ของ IoT ที่ทำงานพร้อมกับระบบอัตโนมัติอัจฉริยะ ที่สามารถควบคุมการทำงานของอาคารได้ โดยมีการแทรกแซงจากมนุษย์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ระบบเซนเซอร์จะทำการติดตามและควบคุมปริมาณการใช้น้ำและไฟฟ้า, ควบคุมแสงสว่าง, ควบคุมการระบายอากาศ และช่วยรักษาความปลอดภัยทั้งภายในและภายนอกอาคาร เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่ใช้บริการอาคาร และช่วยให้ผู้ประกอบการมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และต้นทุนการดำเนินงานน้อยลง

              นอกจากนี้ยังมีระบบ Heating Ventilation and Air Conditioning (HVAC) อีกหนึ่งระบบ ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน โดยระบบนี้จะมุ่งเน้นไปที่การดูแลคุณภาพอากาศภายในอาคาร ทำหน้าที่ปรับสภาพอากาศ, ควบคุมอุณหภูมิ, ควบคุมความชื้น, ดูแลความสะอาด และกระจายอากาศให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ภายในอาคาร

              4.เทคโนโลยีเพื่อโครงสร้างพื้นฐานของอาคาร เป็นการใช้งานระบบเซนเซอร์ของ IoT ที่เชื่อมต่อกับระบบจัดเก็บข้อมูลอย่าง Cloud และ Edge Computer จะช่วยจัดการให้ระบบจอดรถอัตโนมัติสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังใช้งานสำหรับควบคุมการทำงานของลิฟต์ และบันไดเลื่อน ด้วยการทำงานแบบเรียลไทม์ ที่จะช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายด้านการซ่อมบำรุง อีกทั้งยังเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งานได้ด้วย

 

2082107314

              ระบบและเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนเหล่านี้ จะช่วยให้การทำงานของอาคารอัจฉริยะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการระบายอากาศ, การปรับสภาพอากาศ, การควบคุมความร้อน, การควบคุมแสงสว่าง, การควบคุมปริมาณการใช้น้ำ และการรักษาความปลอดภัย สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้อาคารอัจฉริยะได้รับความสนใจจากกลุ่มนักลงทุน และผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ เพราะอาคารที่ทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบเช่นนี้ จะช่วยลดต้นทุนด้านการดำเนินงาน, ช่วยจัดระเบียบผู้เช่า, สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้บริการ และมีความปลอดภัยสูง

              นอกจากนี้แนวคิดเรื่อง ESG ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีการสื่อสาร 5G จะช่วยให้เกิดอาคารอัจฉริยะที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และโครงการเมืองอัจฉริยะก็จะเพิ่มขึ้นตามมา เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างรายได้ไปพร้อมกับการเติบโตทางเทคโนโลยี ซึ่ง AIS Business คือผู้ให้บริการโครงข่ายอัจฉริยะ 5G ที่มีคลื่นมากที่สุด ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย พร้อมทีมงานผู้มีความเชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล รวมไปถึงแพลตฟอร์มจากพาร์ทเนอร์ระดับโลก และการให้บริการด้าน ICT Solution อย่างครบวงจร มีความพร้อมสำหรับการช่วยสร้างสรรค์และสนับสนุนให้เกิด Smart Nation เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน และช่วยขยายโอกาสทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการทุกราย

วันที่เผยแพร่ 28 กุมภาพันธ์ 2567

Reference

AIS Business พร้อมเป็นพันธมิตรดิจิทัล ที่มั่นใจได้ เพื่อพัฒนาธุรกิจและสังคมไทย
เติบโต อุ่นใจ ไปด้วยกัน
"Your Trusted Smart Digital Partner"

ปรึกษาและวางแผนพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรองรับการทำงานและต่อยอดธุรกิจได้ที่
Email : [email protected]
Website : https://www.ais.th/business