Metaverse ได้กลายเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ถูกจับตามองโดยเหล่าธุรกิจองค์กรทั่วโลกเป็นอย่างมากในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน หลังจากที่ Facebook ได้ออกมาประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta และเผยวิสัยทัศน์ว่า Metaverse นั้นจะเป็นอนาคตของโลกออนไลน์ ทำให้ธุรกิจทั่วโลกต่างรีบคว้าโอกาสในโลก Metaverse กันอย่างรวดเร็วด้วยการพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งในส่วนของ AR/VR, 3D, Web 3.0 และ Blockchain กันออกมาอย่างต่อเนื่อง
จากข้อมูลของ Statista [1] ระบุว่าในการสำรวจบนโลกออนไลน์ พบว่าผู้คนสนใจที่จะเข้าร่วมใน Metaverse ด้วยหลากหลายเหตุผล โดยคำตอบที่ได้รับการเลือกมากที่สุดนั้นก็คือ การก้าวข้ามอุปสรรคที่ต้องเผชิญในชีวิตจริงอย่างเช่นความพิการ (39%), การเปิดโอกาสสู่การสร้างสรรค์และจินตนาการรูปแบบใหม่ๆ (37%), การท่องเที่ยวโดยไม่ต้องเดินทาง (37%), การสร้างทักษะทางด้านเทคโนโลยีและเรียนรู้สิ่งต่างๆ (34%) และการสร้างโอกาสใหม่ๆ ในด้านอาชีพและการทำงาน (30%)
แต่ท่ามกลางกระแสที่กำลังร้อนแรงอยู่นี้ ธุรกิจองค์กรไทยจะนำ Metaverse มาใช้งานได้อย่างไรบ้าง? ในบทความนี้เราจะพาทุกท่านไปรู้จักกับแนวทางที่เป็นไปได้ในการนำ Metaverse มาประยุกต์ใช้งานกันดังนี้ครับ
1. การประชุมงานและฝึกอบรมด้วยประสบการณ์ที่สมจริงด้วยเทคโนโลยี 3D
การประชุมงานบนโลกออนไลน์ได้กลายเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวันของผู้คนทั่วโลกไปแล้ว และแน่นอนว่าการมาของ Metaverse เองก็จะช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ในการประชุมงานบนโลกออนไลน์ด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นและน่าจะเข้าถึงใช้งานได้กันอย่างกว้างขวางนั้น ก็คือ Cisco WebEx Hologram [2] หนึ่งในนวัตกรรมใหม่จาก Cisco ที่จะช่วยให้ผู้เข้าประชุมในระบบ Cisco WebEx สามารถสวมใส่แว่นตา AR/VR เพื่อนำข้อมูลหรือ Software ต่างๆ มานำเสนอในประสบการณ์แบบ Augmented Reality หรือ AR ให้มีปุ่มสัมผัสบนอากาศเพื่อทำสิ่งต่างๆ ที่ต้องการ หรือนำโมเดล 3D ของงานวิศวกรรมและการออกแบบออกมาแสดงบนอากาศและมีปฏิสัมพันธ์กับวัตถุเสมือนเหล่านี้ เพื่อใช้ในการประชุมได้
ไม่เพียงแต่การใช้ในงานด้านการประชุมเท่านั้น แต่เทคโนโลยีในลักษณะนี้ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการฝึกอบรมได้อีกอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรมด้านการดูแลรักษาเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีราคาสูง, การฝึกอบรมด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อให้มีประสบการณ์เสมือนในการทำงานกับส่วนต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ ไปจนถึงการฝึกอบรมทางการทหารเพื่อจำลองสถานการณ์ที่ต้องมีการตัดสินใจอย่างแม่นยำ ซึ่งจะสามารถช่วยลดต้นทุนในการฝึกอบรมลงไปได้อย่างมหาศาล อีกทั้งยังเพิ่มคุณภาพในการสื่อสารให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ดีขึ้นด้วยประสบการณ์รูปแบบใหม่ได้อีกด้วย [3]
2. การสาธิตผลิตภัณฑ์, บริการ และการจัดงานสัมมนาบนโลกเสมือน
การมาของ Metaverse นั้นไม่เพียงแต่จะประจวบเหมาะกับแนวโน้มทั่วโลกที่กำลังเปลี่ยนผ่านรูปแบบการทำงานไปสู่ยุค Hybrid Work ที่ทำให้การสื่อสารติดต่อด้านธุรกิจเกิดขึ้นบนโลกออนไลน์มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นมาท่ามกลางความต้องการในการรับประสบการณ์แบบใหม่ในโลกดิจิทัลด้วยเช่นกัน
ทุกวันนี้เราได้เริ่มเห็นแบรนด์ดังจำนวนมากทั้งในกลุ่มสินค้า Luxury ไปจนถึงสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ที่กำลังก้าวเข้าสู่โลกของ Metaverse เพื่อตอกย้ำถึงความแข็งแกร่งของแบรนด์ และสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจในการนำเสนอสินค้าในรูปแบบดิจิทัลกันมากขึ้น โดยนอกเหนือจากกรณีของการสร้างสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นตัวแทนของผลิตภัณฑ์ของแบรนด์เองแล้ว ก็ยังมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจมากมาย
ตัวอย่างหนึ่งก็คือ Sephora [4] ที่ได้มีการเปิดตัวน้ำหอมกลิ่นใหม่บนโลกออนไลน์ โดยถึงแม้ปัจจุบันเทคโนโลยี Augmented Reality (AR) ที่ถูกใช้ในแคมเปญนี้จะยังไม่สามารถถ่ายทอดกลิ่นมายังโลกจริงได้ในปัจจุบัน แต่ Sephora ก็ได้ร่วมมือกับนักวิจัย ทำการคิดค้นวิธีการที่จะทำให้ผู้ชมเนื้อหานั้นสามารถจินตนาการถึงกลิ่นได้ผ่านทางการใช้สี, ภาพเคลื่อนไหว และกราฟฟิกที่นำเสนอ ทำให้สามารถส่งมอบประสบการณ์การรับรู้กลิ่นใหม่ของแบรนด์ไปยังผู้ชมที่รับชมเนื้อหา AR นี้ผ่านทาง Instagram ได้ เป็นต้น
แน่นอนว่าหากมองเฉพาะตัวเทคโนโลยี AR/VR ในทุกวันนี้เราอาจยังมองไม่เห็นภาพมากนักว่าแบรนด์จะสามารถส่งมอบประสบการณ์ให้กับลูกค้าของตนเองผ่านโลก Metaverse ได้อย่างไร แต่กรณีของ Sephora นี้ก็ถือเป็นหนึ่งในคำตอบว่า แบรนด์อาจจะต้องมีการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ บนโลก Metaverse ขึ้นมาเพื่อส่งมอบประสบการณ์ของผลิตภัณฑ์, บริการ หรืองานสัมมนาที่มีความเฉพาะตัวสำหรับแต่ละแบรนด์นี้ด้วยตนเอง
นอกจากนี้ก็ยังมีตัวอย่างของ Spatial ผู้พัฒนาระบบประชุมในโลก Metaverse ที่ได้ผสานนำเอา NFT มารวมด้วย เพื่อให้การเลือกใช้วัตถุหรือสถานที่ต่างๆ นั้นเป็นไปได้ตามต้องการ โดยมีการจัดซื้อรูปแบบและการออกแบบของพื้นที่จัดประชุมได้นั่นเอง
อย่างไรก็ดี การเข้าถึงโลกของ Metaverse นั้นก็ยังคงต้องอาศัยอุปกรณ์อย่าง VR Headset อยู่ และ 5G ก็จะเป็นเทคโนโลยีสำคัญในฐานะของระบบโครงข่ายความเร็วสูงที่สามารถเชื่อมต่อโลก Metaverse เข้ากับผู้ใช้งานได้จากทุกที่ทุกเวลา
3. ออฟฟิศสำหรับทำงาน พร้อมสร้างช่องทางโฆษณาสินค้าและบริการบนโลกเสมือน
อีกหนึ่งประเด็นที่มีการหยิบยกมาพูดคุยเกี่ยวกับ Metaverse กันมากนั้นก็คือที่ดินบนโลกเสมือน ที่ต้องมีการซื้อหรือจับจองเป็นมูลค่าไม่น้อยบน Platform ที่มีชื่อเสียง ทำให้ธุรกิจองค์กรนั้นมีทางเลือกในการเปิดออฟฟิศหรือสาขาของธุรกิจบนโลกเสมือนได้ ทั้งด้วยการซื้อพื้นที่บน Platform ต่างๆ มาพัฒนาต่อยอดใช้ในการพบปะพูดคุยหรือนำเสนอโครงการต่างๆ แก่ลูกค้า หรือสามารถสร้าง Metaverse ใหม่ของตนเองที่มีคุณสมบัติหรือวิธีการส่งมอบประสบการณ์เฉพาะตัวก็ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ด้วยความที่ Metaverse นั้นจะกลายเป็นพื้นที่ใหม่ที่ผู้คนเริ่มเข้าไปทำกิจกรรมต่างๆ หรือใช้ชีวิตในแง่มุมที่ตนเองต้องการ โอกาสใหม่ๆ ในโลกของการโฆษณาจึงเกิดขึ้นได้อย่างไม่จำกัด ไม่ว่าจะเป็นการตั้งป้ายโฆษณาเสมือน, การสร้างอาคารเสมือน, การนำสินค้าเสมือนไปใช้ หรือแม้กระทั่งการทำ Avatar หรือ Skin ที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ก็ล้วนเป็นไปได้ทั้งสิ้น
ตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงแล้วในไทยนั้นก็อย่างเช่นกรณีของ AIS [6] ที่มีการเปิดให้บริการ V-Avenue ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าเสมือนบนโลกดิจิทัล ที่มีพื้นที่ให้แบรนด์ต่างๆ ได้ทำการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการของตนเอง และเชื่อมต่อไปยังบริการดิจิทัลอื่นๆ รวมถึงยังมี Metaverse Human อย่าง ไอ - ไอรีน ที่จะมาทำหน้าที่เป็น Brand Ambassador ให้กับ AIS บน Metaverse อีกด้วย
4. ช่องทางสำหรับสื่อสารและเข้าถึงลูกค้าในกลุ่มใหม่
สำหรับธุรกิจองค์กรหลายแห่งโดยเฉพาะธุรกิจ B2B เองนั้นก็อาจมีคำถามว่าลูกค้าของตนเองจะอยู่ใน Metaverse มากน้อยเพียงใด? และจะคุ้มค่าไหมสำหรับการก้าวสู่โลกของ Metaverse?
แน่นอนว่าในช่วงแรกๆ นั้น Metaverse ย่อมเป็นที่ดึงดูดต่อผู้คนรุ่นใหม่และผู้ที่สนใจในเทคโนโลยีเป็นหลัก ดังนั้นมุมมองที่ถูกต้องของธุรกิจในระยะแรกนี้จึงควรจะเป็นการมองโอกาสในการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ซึ่งนับวันคนรุ่นใหม่จะยิ่งทำธุรกิจกันรวดเร็วยิ่งขึ้น ทำให้ Metaverse กลายเป็นช่องทางสำคัญที่จะช่วยให้แบรนด์สามารถเข้าถึงผู้ประกอบการรุ่นใหม่ได้นั่นเองในมุมของธุรกิจ B2B
ส่วนในระยะยาว Metaverse นั้นมีโอกาสที่จะเข้าสู่การเป็นเทคโนโลยีหลัก เหมือนที่สมัยก่อน Internet เองก็เคยได้รับแรงต้านจากกลุ่มผู้มีอายุ หรือแม้แต่ Social Network และ Chat ที่เราใช้ในทุกวันนี้ก็เคยผ่านสถานะดังกล่าวมาแล้วเหมือนกัน ดังนั้นท้ายที่สุดแล้ว หาก Metaverse ถูกใช้งานกันอย่างแพร่หลาย ก็จะกลายเป็นช่องทางที่ทำให้แบรนด์สามารถเข้าถึงและใช้ติดต่อธุรกิจกันได้อย่างสากล
ในขณะเดียวกัน Metaverse เองนั้นก็มีความแตกต่างจากการติดต่อสื่อสารในโลกจริง ในแง่ของการที่ผู้คนสามารถทำการพบปะพูดคุยหรือปรึกษาเชิงธุรกิจ และแสดงความเชี่ยวชาญของตนเองได้อย่างเต็มที่ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลตัวตนกันแต่อย่างใด ซึ่งคุณลักษณะนี้ก็ถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่าในอนาคตจะมีธุรกิจหรือบริการกลุ่มใดบ้างที่สามารถใช้ประโยชน์จากประเด็นดังกล่าวได้
5. ตั้งศูนย์ให้บริการลูกค้าบนโลกเสมือน ผสานเทคโนโลยี Web 3
สุดท้ายคือกรณีของการให้บริการลูกค้าของแบรนด์ผ่านช่องทางบนโลก Metaverse ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสใหม่ที่เหนือกว่าช่องทางในปัจจุบันอย่างเช่นการ Chat เป็นอย่างมาก เพราะบนโลก Metaverse นั้นสามารถผสานรวมเทคโนโลยีอื่นๆ มาใช้งานร่วมกันได้อย่างง่ายดาย อีกทั้งการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบยิ่งกว่าเทคโนโลยีใดๆ ในปัจจุบัน
แน่นอนว่าการมาของ Metaverse ย่อมทำให้เทคโนโลยี Automation ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารหรือให้บริการอย่าง Chatbot นั้นต้องเปลี่ยนไปด้วย เพราะ AI ที่สามารถพูดคุยโต้ตอบได้เพียงอย่างเดียวนั้นจะไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป แต่ต้องรองรับการมีปฏิสัมพันธ์ในรูปแบบอื่นๆ ร่วมกับผู้ใช้งานได้ด้วย ทำให้ Chatbot ในอนาคตนั้นต้องวิวัฒนาการไปสู่ Digital Human และส่งมอบประสบการณ์การให้บริการที่ดีให้กับลูกค้าของแบรนด์ได้
นอกจากนี้ การให้บริการในแบบ Field Service ด้วย Augmented Reality หรือ AR เองก็ดูจะกลายเป็น Business Application ที่เป็นจริงได้ง่ายมากยิ่งขึ้นจากการตื่นตัวทางด้าน Metaverse นี้เช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีธุรกิจองค์กรหลายแห่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มงานวิศวกรรมที่ได้นำนวัตกรรมดังกล่าวไปใช้ เพื่อให้วิศวกรผู้เชี่ยวชาญทางด้านเครื่องจักรเฉพาะทางจากทั่วทุกมุมโลก สามารถเข้าถึงสถานที่จริงหน้างานไม่ว่าจะเป็นในโรงงานหรือภายนอกอาคาร และตรวจสอบอุปกรณ์เหล่านั้นด้วยประสบการณ์เสมือนอยู่หน้างานด้วยตนเอง เพื่อให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในโลกแห่งความเป็นจริงได้
ข้อมูลจาก Statista เคยมีการทำนายแนวโน้มการเติบโตของเทคโนโลยีด้าน AR/VR ในอุตสาหกรรม Field Service [7] ว่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปี 2022 นี้ แต่ด้วยการมาของโรคระบาดเองก็อาจทำให้แนวโน้มดังกล่าวนี้เกิดขึ้นช้าลงไปบ้าง
ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยี Web 3 อย่างเช่น Blockchain, NFT, Smart Contract และอื่นๆ ก็จะเข้ามามีบทบาทต่อการทำธุรกรรมและการทำ Automation บนโลก Metaverse เป็นอย่างมาก เพื่อให้ทุกๆ กิจกรรมที่มีความสำคัญซึ่งเกิดขึ้นบนโลก Metaverse นั้นมีความโปร่งใส ชัดเจน เป็นอัตโนมัติ และเป็นที่ยอมรับได้ในสากล
“5G” หัวใจสำคัญที่จะช่วยส่งมอบประสบการณ์ Metaverse สู่ผู้ใช้งาน
การส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งานผ่าน Metaverse นั้น ก็ย่อมต้องมีเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและมีความมั่นคงปลอดภัยในการสนับสนุนการใช้งาน ซึ่ง AIS 5G ก็พร้อมที่จะเป็นระบบโครงข่ายไร้สายที่เชื่อมต่อทุกคนเข้าสู่โลกของ Metaverse ได้ด้วยเครือข่าย 5G ความเร็วสูง ทำให้การเข้าถึง Metaverse ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงเฉพาะภายในบ้านหรือที่ทำงานที่มี Internet ความเร็วสูงเท่านั้น แต่ธุรกิจต่างๆ จะสามารถส่งมอบประสบการณ์ในโลก Metaverse ไปยังผู้ใช้งานได้ในทุกที่ทุกเวลาอย่างแท้จริงด้วย AIS 5G ดังกลยุทธ์ 5 ประการทางด้าน 5G ที่ AIS ได้ประกาศเอาไว้ในปี 2022 ได้แก่
สำหรับธุรกิจองค์กรใดที่มีวิสัยทัศน์ทางด้าน Metaverse และต้องการเติมเต็มนวัตกรรมด้วยการเชื่อมต่อ 5G เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้ใช้งานในทั่วทุกมุมของประเทศไทย สามารถติดต่อทีมงาน AIS Business ในการพูดคุยถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในเชิงสถาปัตยกรรมของเทคโนโลยีและธุรกิจ พร้อมทดสอบการนำ 5G ไปใช้งานร่วมกับ Metaverse ได้ทันที
วันที่เผยแพร่ 14 กรกฎาคม 2565
Reference
AIS Business พร้อมเป็นพันธมิตรดิจิทัล ที่มั่นใจได้ เพื่อพัฒนาธุรกิจและสังคมไทย
เติบโต อุ่นใจ ไปด้วยกัน
"Your Trusted Smart Digital Partner"
ปรึกษาและวางแผนพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรองรับการทำงานและต่อยอดธุรกิจได้ที่
Email : [email protected]
Website : https://www.ais.th/business
สามารถติดต่อผู้เชี่ยวชาญจาก AIS Business เพื่อให้คำปรึกษาและวางแผนพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล
สำหรับรองรับการทำงานและต่อยอดธุรกิจได้ทันที