ต้องยอมรับว่าในยุคที่เทคโนโลยีก้าวล้ำไวพอๆ กับจรวด การจะพัฒนาให้ทีมก้าวทันเทคโนโลยีเหล่านี้ และนำมาปรับใช้กับธุรกิจ นับว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลอยู่มากทีเดียว ที่สำคัญการจะเป็นผู้ริเริ่มหรือเจ้าของตลาดบางอย่าง ก็ต้องมีการเตรียมพร้อมให้ทีมพร้อมรับมือ กับความท้าทายที่รออยู่ตรงหน้าและยากมากขึ้นเรื่อยๆ ผลลัพธ์ของการลงทุนในครั้งนี้ จะนำมาสู่การเป็นผู้ครอบครองขุมพลังมหาศาล ทั้งกำลังพล และกำลังอาวุธ ไม่ว่าธุรกิจไหนจะเข้ามาต่อกร ธุรกิจที่ผ่านการฝึกฝนมาอย่างดีจะไม่มีวันพ่ายแพ้ และนี่คือขั้นตอน ของการยกระดับให้ทีมเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตอันใกล้
อาจมีคนบอกว่า ‘เราจะต้องเป็นตัวเลือกที่ถูกที่สุดในตลาด เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกเราได้ง่ายขึ้น’ แต่จะดีกว่าไหม? หากเรา บอกกับตัวเองว่า ‘เราจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะต้องจ่ายแพงแค่ไหน ลูกค้าก็ไม่ลังเลที่จะจ่าย’ เพราะฉะนั้นหากเลือกจะเป็นธุรกิจ อย่างหลังคงต้องสู้กันหน่อย! ซึ่งความอดทนพยายามนี้ส่งผลลัพธ์ที่คุ้มค่าแน่นอน แต่มันก็หมายความว่าธุรกิจจำเป็นต้องเพิ่มทักษะ ให้กับพนักงานมากขึ้น เพื่อเตรียมพบกับความท้าทายใหม่ๆ และยากขึ้น
ขั้นตอนแรกในการยกระดับทักษะ คือ การกำหนดช่องโหว่ หรือข้อจำกัดบางอย่างที่ทีมมีอยู่แล้ว และลองค้นหาวิธีในการฝึกฝนเพิ่มเติม เช่น ธุรกิจมีช่องโหว่ด้านทักษะทางดิจิทัล ที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของธุรกิจ 54% ของบริษัท และช่องโหว่นั้นกำลังขยายตัวกว้างขึ้น เมื่อรู้จุดบกพร่องก็ใช้ช่องโหว่นี้ในการพัฒนาปิดไม่ให้ช่องโหว่นี้เป็นจุดอ่อนของธุรกิจ
ในขณะที่ฝึกฝนควรบันทึกการทดลองนี้เก็บเอาไว้ เพราะในวันข้างหน้าหากเกิดปัญหาอะไรขึ้นก็สามารถกลับมาศึกษาหาแนวทางแก้ไขที่ไม่ซ้ำวิธีการเดิมๆ ที่เคยได้ลองทำไปได้ นอกจากจะไม่เสียเวลาทำผิดซ้ำเดิมแล้ว ยังเป็นการสั่งสมประสบการณ์เก็บเอาไว้เป็นรูปธรรมได้อีกด้วย หลังจากนำกระบวนที่ผ่านการฝึกฝนมาแล้วไปทดลองจริงว่าสามารถแก้ปัญหา หรือพร้อมเผชิญกับปัญหาได้ไหม
ขั้นของการทดสอบ ให้ลองสร้างความท้าทายใหม่ๆ ให้กับทีมเพื่อฝึกรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ เป้าหมาย คือ การแสดงให้รู้วิธีคิดอย่างสร้างสรรค์ ในขณะเดียวกันก็เพิ่มพูนทักษะไปด้วย เช่น การจำลองสถานการณ์เฉพาะหน้าหรือสร้างสถานการณ์ที่คล้ายกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในธุรกิจขึ้นมา และควรมองปัญหาจากภายในทีมก่อน เพื่อให้ทีมได้ลองคิดและลงมือแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น การจัดประชุมทุกสัปดาห์ที่ทุกคนมารวมตัวกันและสร้างสรรค์ไอเดียเพื่อแก้ปัญหา ด้วยการใช้เทคโนโลยีต่างๆ จากนั้นพัฒนาจนเป็นผลิตภัณฑ์จริง สิ่งที่ธุรกิจและทีมจะได้คือการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาทักษะในตัวเอง การทดลองเหล่านี้ ในครั้งแรกอาจไม่ประสบความสำเร็จเลยทีเดียว แต่ทีมจะได้พัฒนาทักษะความรู้ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานสำหรับการทำงานในอนาคตที่จำเป็นต้องใช้ทั้งสิ้น
การศึกษาและทำความเข้าใจถึงแนวโน้มของเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปจนถึงการรู้จักใส่ใจเพื่อนร่วมทีม เป็นส่วนสำคัญทีี่ทำให้ธุรกิจเข้าใกล้ความสำเร็จมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ
“คุณไม่สามารถสอนทักษะที่ทีมต้องการในอนาคตได้ หากคุณไม่เข้าใจความต้องการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” ทางออกของปัญหานี้คือค้นหาและวิเคราะห์แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในธุรกิจเพื่อนำไปกระตุ้นให้สมาชิกในทีมลงมือต่อยอด แต่นั่นก็ไม่เพียงพอเพราะผู้นำของทีมต้องรู้จักศึกษาเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมในวันนี้ มาพัฒนาต่อยอดแนวคิดของเทคโนโลยีด้วยใจที่เปิดกว้าง และให้ทีมทุกคนยอมรับกับสิ่งใหม่ๆ เสมอ วิธีนี้จะช่วยค้นหาโอกาสเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจในอนาคตอันใกล้และอีกหลายสิบปีข้างหน้าได้เลยทีเดียว
การสร้างทีมใหม่อาจเป็นเรื่องยาก แต่การมองหาคนที่มีความสามารถในด้านนั้นๆ ขึ้นมาเป็นผู้นำในการถ่ายทอดความรู้ อาจะจะใช้วิธีการปรับเปลี่ยนกันสอน อย่างเช่น วันนี้ตัวแทน A สอนเรื่องคอนเทนต์ในยุคปัจจุบัน ตัวแทนทีม B สอนเรื่องการเข้าสู่ระบบด้วยวิธีการใหม่ๆ การถ่ายทอดความรู้ลักษณะนี้จะช่วยประหยัดพลังงาน และเป็นการกระจายความรู้ที่ทั่วถึง เข้าใจง่ายและได้ประสิทธิภาพจากผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นจริงๆ
การเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่ว่าธุรกิจไหนก็อยากทำให้สำเร็จ แต่ความพยายามที่ไม่สิ้นสุด จะนำมาสู่ผลลัพธ์ที่นับไม่ถ้วนเช่นกัน ถึงจะผิดพลาดกันไปบ้างแต่ก็ได้เรียนรู้ตั้งแต่เนิ่นๆ ว่าเราไม่สามารถทำทุกอย่างได้ในครั้งเดียว ไม่ว่าจะต้องการมากแค่ไหน การใช้ความล้มเหลวเป็นตัวขับเคลื่อนให้พัฒนาไปข้างหน้า สามารถสร้างให้ธุรกิจเป็นไปตามแผนที่ถูกวางไว้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ หรือเรียกว่าเส้นทางแห่งความสำเร็จนั่นเอง AIS The StartUp ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้สตาร์ทอัพทุกคนนะครับ
บทความโดย
AIS The StartUp