หลายครั้งธุรกิจ Startup Thailand ต้องพ่ายแพ้ยกธงขาวเพราะขาดทุนจนสู้ไม่ไหว แต่มีสิ่งหนึ่งที่สตาร์ทอัพหลายคนฮึบสู้ไม่ถอดใจและไปถึงฝั่งฝันได้ นั่นคือ การเรียนรู้ว่า “ขาดทุนเพื่อเติบโต” การขาดทุนบางครั้งก็นำมาซึ่งประสบการณ์และเป็นการเปิดเส้นทางไปสู่การเจริญเติบโตของธุรกิจ
ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า “เงิน” คือ ปัจจัยสำคัญในการทำธุรกิจและพัฒนาแทบทุกสิ่งและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับ Startup Thailand ทุกคนจากสถิติพบว่ามี สตาร์ทอัพกว่า 70% ที่มีความเครียดเรื่องเงิน ซึ่ง 1 ในเหตุผลที่พบบ่อยมากที่สุด คือ การทำธุรกิจที่ไม่ประสบผลสำเร็จขาดทุนบ้าง กำไรน้อยบ้าง แล้วทำไมการเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพต้องขาดทุนอยู่ตลอด?
สิ่งที่น่าสนใจของบริษัทสตาร์ทอัพ คือ แหล่งเงินทุนของธุรกิจอาจไม่ได้มาจากเงินกู้ธนาคารทั้งหมด แต่เป็นการระดมทุนจากนักลงทุนซึ่งทำให้ปราศจากการเกิดดอกเบี้ยเงินกู้ หรือแม้แต่การระดมทุนจากบุคคลทั่วไป Crowdfunding ในขณะเดียวกันก็มาพร้อมความคาดหวังในการเติบโตแบบก้าวกระโดดเหมือนกัน เพราะฉะนั้นหากบริษัทสตาร์ทอัพมีแนวโน้มการเติบโตไม่มากพอ หรือไม่ตรงตามตัวเลขที่คาดไว้ อาจจะส่งผลให้นักลงทุนไม่เชื่อมั่นและโอกาสในการได้เงินทุนจะยากขึ้นเป็นเท่าตัว จึงไม่แปลกที่ก้าวแรกจะล้มลุกคลุกคลาน หรือขาดทุนจนอยากยกธงขาว
ดังนั้นสิ่งที่เหล่า Startup Thailand ต้องทำไม่ใช่แค่การทำกำไรเท่านั้น แต่คือตัวเลขผู้ใช้งาน เพื่อสร้างรากฐานความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจของตัวเอง และเพื่อให้ง่ายต่อการระดมทุนในลำดับขั้นต่อไป นี่คือบทสรุปในเรื่องของทำไมธุรกิจสตาร์ทอัพต้องวางแผนและตั้งใจที่จะขาดทุนตั้งแต่วันแรกเพื่อเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ในมุมของนักลงทุนจะมองที่ Business Model ของสตาร์ทอัพว่ามีแผนการขยายธุรกิจ (expansion plan) ที่ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นหรือไม่ สามารถเติบโตได้ทั้งในและต่างประเทศหรือเปล่า สามารถขยาย (Scalability) หรือขายต่อได้ไหม ธุรกิจมีกลยุทธ์หรือวิธีการของการป้องกันหรือมีทางออกสำหรับการขาดทุนที่จะเกิดขึ้นได้และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ไม่ควรลืม
“ไม่ว่าสินค้า/บริการจะสร้างฐานลูกค้าได้มากมายเท่าไหร่ หรือมีเงินทุนสนับสนุนมากแค่ไหน แต่ถ้าลูกค้าที่มีอยู่มากมายไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับกิจการหรือไม่สามารถนำโมเดลธุรกิจ พัฒนาต่อยอดแบบ Scalable ได้ นั่นคือ การก้าวมาสู่ความเสี่ยงของธุรกิจแล้ว”
แน่นอนว่ารายได้อย่างก้าวกระโดดนั้นมาจากการเน้นเรื่องจุดแข็งของผลิตภัณฑ์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมา แต่นอกจากจุดแข็งของผลิตภัณฑ์แล้วยังมีเป้าหมายเรื่ององค์กรที่ต้องพัฒนาควบคู่ไปด้วย ตั้งเป้าหมายใหญ่ไว้ให้พุ่งชนแล้วก็พยายามทำให้ได้และอย่าลืมเรื่องการต่อยอดธุรกิจให้เริ่มมองไปยังตลาดต่างประเทศ รวมถึงขยายฐานลูกค้าในประเทศให้เพิ่มมากขึ้นด้วย
การรู้จักวางรูปแบบแผนธุรกิจ (Business Model) เป็นสิ่งที่สำคัญขั้นแรกที่นักธุรกิจ Startup Thailand ต้องทำ แต่การวาง Positioning ของธุรกิจที่ดี จะทำให้สามารถระดมทุนได้ในเม็ดเงินที่มากเช่นกัน ซึ่งต้องอาศัยการสร้างความสัมพันธ์เป็นปีๆ เพื่อให้เกิดความต้องการที่อยากลงทุนจริงๆ ไม่ใช่การระดมทุนในช่วงที่เงินของ สตาร์ทอัพกำลังจะหมด เพราะจะทำให้อำนาจในการต่อรองกับ VC หรือ Venture Capital น้อย
ในการเลือก VC ต้องมองว่า จุดแข็งของ VC นั้นๆ คืออะไร เกี่ยวข้องกับธุรกิจมากแค่ไหน เคล็ดลับคือก่อนเข้าสู่ช่วงระดมทุน (fundraising) ควรหาข้อมูลอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพื่อหามุมคุยที่จะสามารถชักจูงให้ VC มาลงทุนกับเราได้ ซึ่งการลงทุนจะเกิดขึ้นได้นั้นเป็นเรื่องของฝ่ายซื้อและฝ่ายขาย ทั้ง 2 ฝั่ง ก็จะมองเม็ดเงินที่ต่างกัน ด้านบริษัทสตาร์ทอัพก็จะมองมูลค่าเม็ดเงินที่สูง แต่ฝั่ง VC เองจะมองเม็ดเงินต่ำลงมา เพราะต้องการผลประโยชน์สูงที่สุด
ในรอบแรกการได้มาซึ่งเม็ดเงินจากการลงทุนเป็นเรื่องที่ยาก เพราะบริษัท Startup ยังมีจำนวนผู้ใช้งานไม่มาก บางสตาร์ทอัพยังไม่มีข้อมูลทางบัญชีย้อนหลัง ว่ามีกำไรหรือขาดทุนเท่าไหร่ ดังนั้น ถ้าอยากให้ สตาร์ทอัพ ก้าวแรกไม่พลาดควรดูข้อมูลของสตาร์ทอัพใกล้เคียง เพื่อประเมินว่าสตาร์ทอัพของตัวเองควรจะมีมูลค่าเท่าไหร่
สุดท้ายแล้วสตาร์ทอัพไหนที่สามารถดึง “ผู้ใช้งาน” ให้อยู่ในระบบได้มากกว่า
ถึงแม้ว่าจะทำกำไรในช่วงแรกได้ไม่มาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปในอนาคตสตาร์ทอัพนั้น
จะสามารถใช้ข้อได้เปรียบของผู้ใช้งานในการสร้างรายได้ได้นั่นเอง
ในการทำธุรกิจสตาร์ทอัพไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ด้วยการมีเงินลงทุนที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งผลิตภัณฑ์ต้องแปลกใหม่ และสร้างความแตกต่างให้กับลูกค้า ทำให้ช่วงแรกอาจมีโอกาสขาดทุนหรือเป็นหนี้ได้มาก เพื่อที่จะเติบโตแบบก้าวกระโดดให้ได้จริงๆ AIS The StartUp ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้สตาร์ทอัพที่มีความฝัน มุ่งมั่น และลงมือทำ
หากใครที่สนใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในครอบครับ AIS The StartUp สามารถส่งผลงานได้ที่ http://www.ais.th/thestartup/connect.html
บทความโดย
AIS The StartUp