แนวคิดสตาร์ทอัพจุลภาค (Micro Startup)
30 ต.ค. 2562

Startup เปรียบเสมือนกับต้นไม้ ขั้นตอนแรกของการเริ่มปลูกต้นไม้เพาะพันธ์ุให้ต้นไม้ต้นนี้เติบใหญ่และแข็งแรง แผ่รากแผ่กิ่งอุดมสมบูรณ์ให้เราได้เก็บเกี่ยวเป็นร้อยปีสิบปี คงจะต้องเริ่มจากการหันมาใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ อย่างการเลือกเมล็ดพันธ์ุที่ดี ที่ถึงแม้จะเป็นเมล็ดพันธุ์ใกล้บ้านที่หาได้ไม่ยาก แต่ต้องมั่นใจว่าเมล็ดพันธุ์นั้นเป็นเมล็ดที่สามารถเติบโตได้ โดยไม่ตายกลางคัน แต่ถึงอย่างนั้นเจ้าของก็ต้องดูแล หมั่นรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ยด้วยเช่นกัน

การเลือกเมล็ดพันธุ์ก็เปรียบเสมือนการมองหาไอเดียทางธุรกิจ ถึงแม้จะเป็นปัญหาใกล้ตัว หรือเป็นปัญหาเล็กๆ ที่ใครๆ ก็รู้ แต่อาจจะยังไม่มีคนหยิบมาพูดถึงก็ได้ หรือถ้ามีคนนำเมล็ดมาปลูกกันเยอะแล้ว ก็ไม่จำเป็นว่าเมล็ดพันธ์ุของเรา จะต้องเติบโตหรือส่งออกขายเหมือนกับคนอื่นๆ หากเรารู้จักต่อยอด วางแผนสร้างมูลค่าให้กับเมล็ดพันธุ์ที่กำลังบ่มเพาะ ยกตัวอย่างเช่น ทุกบ้านปลูกมะพร้าว บางคนก็ขายเป็นลูกๆ คั้นกินสดๆ แต่บางคนรู้จักแปรรูปนำไปทำเป็นโยเกิร์ต ทำเป็นพุดดิ้ง ทำเป็นเค้กมะพร้าว จากที่เคยขายมะพร้าวได้ลูกละ 10 บาท อาจจะขายเค้กมะพร้าวได้ชิ้นละ 100 บาทก็ได้

เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นได้จากเรื่องเล็กๆ แต่ผ่านการพัฒนาให้เติบใหญ่ อาจจะด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยีก็ตามแต่หัวใจสำคัญคือการลองเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ ดู เพราะการเริ่มต้นธุรกิจไม่ได้หมายถึงการต้องเค้นความคิดสร้างสรรค์ขนาดใหญ่ที่กำลังจะเปลี่ยนโลก แต่บางครั้งแนวคิดทางธุรกิจที่ง่ายที่สุดนั้น ก็สามารถประสบความสำเร็จมากที่สุดได้เหมือนกัน แค่ลองเริ่มต้นด้วยการแก้ปัญหาของผู้คนไม่ใช่เริ่มคิดจากการอยากจะเปลี่ยนโลก ยังมีสิ่งต่างๆ มากมายรอบตัว อาจจะลองสังเกตจากชีวิตประจำวันไลฟ์สไตล์ หรือพฤติกรรมของตัวเอง ที่สามารถลงมือทำได้ตั้งแต่วันนี้ และนี่คือแนวคิดการเริ่มต้นของสตาร์ทอัพจุลภาค (Micro Startup)

ตัวอย่างสตาร์ทอัพที่ใช้แนวคิดจุลภาค และพัฒนาจนกลายเป็นเมล็ดพันธุ์

Pastel Keyboard

มองจากไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้งานแป้นพิมพ์ที่ต้องใช้พิมพ์ทุกวัน จนกลายมาเป็นธุรกิจที่ให้ผู้ใช้งานออกแบบแป้นพิมพ์ให้เหมาะกับบุคลิก ความชอบ และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้ นอกจากจะเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้งานแล้ว ยังได้มอบความสะดวกสบายเพิ่มเติมให้กับผู้ใช้ เช่น เก็บข้อความเอาไว้ใน Keyboard ได้จะได้ไม่ต้องคอยพิมพ์บ่อยๆ อย่างเวลาสั่งของจากร้านค้าออนไลน์ต้องคอยส่งที่อยู่ เป็นต้น

VT Thai

มองจากหัตถกรรมพื้นบ้านใกล้ตัวที่คนอื่นอาจไม่เห็นคุณค่ามาเพิ่มมูลค่าด้วยการยกระดับงานจักสาน งานหัตถกรรม (Handcraft) ให้โกอินเตอร์ ต่อยอดงานแฮนด์คราฟท์ สร้างอาชีพให้ชาวบ้าน และนำรายได้มาสู่ชุมชน

Local Alike

มองจากผู้คนในชุมชนที่เป็นคนท้องถิ่น ว่าจะสามารถพัฒนาให้ชาวบ้าน มีรายได้และต่อยอดธุรกิจให้ชุมชนอย่างไรได้บ้าง จนกลายมาเป็นสตาร์ทอัพไฟแรง ที่นำเรื่องใกล้ตัวเปลี่ยนมาทำเป็นธุรกิจท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อสังคมและชุมชนได้อย่างดี

Refinn

มองจากพฤติกรรมการใช้เงินที่ใกล้ตัวอย่างการรีไฟแนนซ์ที่แสนจะยุ่งยากให้กลายเป็นเรื่องง่าย Refinn บริการที่จะช่วยให้ผู้ประสบปัญหาทางการเงินมีเงินเก็บมากขึ้น ลดภาระหนี้สิน ผ่านผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้คำปรึกษา

Bellugg

Bellugg เป็นธุรกิจ Startup มองจากพฤติกรรมของผู้คนที่ต้องเดินทางโดยมีสัมภาระมากมาย จนกลายมาเป็นธุรกิจรับส่งกระเป๋าให้นักท่องเที่ยวซึ่งนอกจากจะไม่ต้องแบกกระเป๋า ให้หนักแล้วยังช่วยลดภาระประหยัดเวลาในการเดินทางไปท่องเที่ยวที่อื่นๆ ให้กับนักท่องเที่ยวอีกด้วย

Grab Walk, Grab Food

มองจากพฤติกรรมของผู้คนในเรื่องของการเดินทาง มาจนถึงบริการสั่งอาหาร หรือเดินส่งของ ซึ่งถือว่าในยุคนี้คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักบริษัท Startup “Grab" แพลตฟอร์มที่ให้บริการได้หลากหลาย

สุดท้ายนี้การจะเริ่มสร้างธุรกิจสักชิ้นอาจจะเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายๆ คน แต่แนวคิดสตาร์ทอัพจุลภาคโดยการเริ่มคิดจากสิ่งเล็กๆ ใกล้ตัว อาจจะช่วยให้กลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ได้ในอนาคต AIS The StartUp ขอเป็นกำลังใจให้กับคนที่มีฝัน และสนุกไปกับความคิดทางธุรกิจขนาดเล็ก โดยหวังว่าบทความนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้นึกคิดไอเดียทางธุรกิจออกมาช่วยแก้ไขปัญหากันต่อไป

บทความโดย
AIS The StartUp