หลักวิเคราะห์ความเสี่ยงเปลี่ยนโลก ที่ทุกองค์กรไม่รู้ไม่ได้

2 ก.ค. 2567
หลักวิเคราะห์ความเสี่ยงเปลี่ยนโลก ที่ทุกองค์กรไม่รู้ไม่ได้ - Startup Thailand

หลักวิเคราะห์ความเสี่ยงเปลี่ยนโลก ที่ทุกองค์กรไม่รู้ไม่ได้

เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว มี Buzz Word คำหนึ่งที่ถือกำเนิดขึ้นมาในโลกธุรกิจ นั่นก็คือคำว่า “Digital Transformation” ที่หลายองค์กรต่างขยับตัวตอบรับ และเริ่มดำเนินการสร้างวัฒนธรรมDigital เต็มรูปแบบเพื่อให้ตัวองค์กรเองก้าวไปทันเทคโนโลยี และนำมาปรับใช้ให้เกิดประสิทธิภาพที่สูงสุด ซึ่งเราก็คงได้เห็นว่าเมื่อเวลาผ่านไปไม่นานDigitalก็เขามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คนจริงๆ จนทำให้องค์กรที่ขยับตัวได้ช้าต่างก็ต้องประสบปัญหาตามหลังคนอื่นในทุกวันนี้

มาถึงปัจจุบัน ในวงการธุรกิจและการลงทุนก็ได้ถือกำเนิดคำศัพท์ใหม่ในวงการขึ้นมาอีกครั้ง นั่นก็คือคำว่า “ESG” หรือที่ย่อมาจาก Environment (สิ่งแวดล้อม), Social (สังคม),Governance(ธรรมมาภิบาล) ซึ่งถ้าใครไม่อยากจะพลาดเทรนด์โลกครั้งใหญ่ และพร้อมที่จะรู้จักกับเทรนด์นี้ ที่ก่อนที่จะสายไป ก็มาเริ่มต้นเรียนรู้จากสรุปเนื้อหา ESG to Capital For Tech Entrepreneurs กันได้เลย

ESG คืออะไร - Startup Thailand

รู้จักกับ ESG กันก่อน

ESG นั้นเป็นหลักการวิเคราะห์ความเสี่ยง 3 มิติที่มองว่า นอกจากที่องค์กรนั้นสามารถทำกำไรได้แล้ว สิ่งต่อมาที่ต้องทำก็คือการลดความเสี่ยงในการดำเนินงานเพื่อให้ธุรกิจและองค์กรเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยสนใจที่ Stakeholders หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ครบรอบด้าน ว่ามีใครที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจขององค์กรบ้าง ซึ่งในยุคนี้อาจจะไม่ได้มองแค่ในแนวตรงอีกต่อไป แต่ต้องดูด้วยว่าในเส้นตรงของเรานั้น ทั้งด้านบน และด้านล่างมีใครที่ส่วนประกอบอยู่บ้าง ซึ่งกลุ่มคนเรานี้ก็ล้วนได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานทั้งในด้าน

E:Environment

แนวคิดที่องค์กรจะต้องวิเคราะห์ว่าธุรกิจของเราสร้างความเสี่ยงให้กับสิ่งแวดล้อมหรือไม่

S:Social

ยิ่งองค์กรนึกถึง Stakeholders ได้รอบด้านเท่าไร ก็จะยิ่งหากลุ่มสังคมที่ได้รับผลกระทบได้มากขนาดนั้น ซึ่ง Social หรือสังคมที่ว่าก็รวมทั้งคนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทั้งภายในและภายนอกองค์กร ดังนั้นการเป็นอยู่ของพนักงาน และชุมชนรอบข้างธุรกิจ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนหนึ่งของ Value Chain ในธุรกิจแทบทั้งนั้น จึงเป็นหน้าที่ขององค์กรที่จะเข้ามาให้ความสำคัญกับสังคมในหลายๆ ด้าน เพื่อให้สังคมมีความเป็นอยู่ที่ดี อยู่ในหลักสิทธิมนุษยชน และสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

E:Environment

Governance หรือคำใกล้เคียงที่เราเรียกกันว่า ธรรมาภิบาล เป็นสิ่งพื้นฐานที่ในแต่ละองค์กรควรมีอยู่แล้ว เพราะจะเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ไม่มีการคอรัปชั่นทุจริต และทุกอย่างที่ทำก็ต้องเกิดผลประโยชน์กับ Stakeholders ทุกรายในธุรกิจ โดยทั้งหมดนี้จะถูกจัดทำในรูปแบบของ กฏระเบียบ วัฒนธรรม และการบริหารต่างๆ เพื่อให้องค์กรดำเนินไปตามหลักธรรมาภิบาลได้

Start with WHY - Startup Thailand

แล้วทำไมองค์กรถึงต้องเริ่มแนวคิด ESG?

1. Funding & Investments

เพราะในยุคนี้องค์กรที่อยู่ได้ ไม่ได้แข่งกันด้วยผลกำไรที่เกิดขึ้นในปัจจุบันแค่อย่างเดียว แต่มุมมองที่นักลงทุนมองเพิ่มเติมคือโอกาสและความเสี่ยงของการอยู่รอดของธุรกิจในอนาคตอีกด้วย รวมถึงความเสี่ยงในมิติของ ESG เพราะ ESG เป็นส่วนหนึ่งที่จะโชว์ศักยภาพขององค์กร ว่าจะสามารถวิเคระห์ความเสี่ยง แล้วนำข้อมูลนั้นมาพัฒนาตัวเองอย่างยั่งยืนไปควบคู่กับการบริหารรายได้ไปได้ด้วยกันหรือไม่

ซึ่งการทำ ESG ไม่ได้สร้างผลประโยชน์ให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ ESG ที่ดี จะรวมไปถึงการบริหาร Stakeholders รอบด้าน หรือที่เรียกกันว่าการทำ Stakeholders Management ที่องค์กรไหนสามารถทำได้ดีกว่า ก็ย่อมเกิดความได้เปรียบขึ้นในหลายด้าน และมีศักยภาพที่จะสามารถปรับตัว เอาตัวรอดไปได้จากในวิกฤตมากกว่า อย่างเช่น ในช่วงโควิดที่ผ่านมาก็จะเห็นได้ว่าองค์กรที่พัฒนาตัวเองได้เร็วและยั่งยืนนั้นได้รับผลกระทบที่น้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด

จึงไม่แปลกที่นักลงทุนในยุคใหม่ๆ จะเริ่มมองหาองค์กรที่ยั่งยืนมากกว่ามองผลประกอบการที่แสดงในปัจจุบันที่อาจจะไปเกิดปัญหาปรับตัวไม่ได้ในระยะยาว เพราะไม่ได้เตรียมแผนงานเพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต อีกทั้งองค์กรเหล่านี้ก็ยังสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องแม้ว่าในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงกฏหมายในบางข้อเพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์การฟื้นฟูธรรมชาติของโลกที่เปลี่ยนไปได้ด้วย

2. Business Opportunity

ส่วนที่ 2 ที่สำคัญมากเลยคือ Business Opportunity โดยเฉพาะในธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรม technology เพราะยุคของ ESG Transition เปิดโอกาสให้กลุ่ม technology ได้นำเสนอสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น เพราะ technology เป็นตัว enable ให้องค์กรต่างๆสามารถบริหารจัดการเรื่อง ESG ได้ และนี่เป็นโอกาสที่จะพา tech company เชื่อมต่อไปในทุกๆอุตสาหกรรมได้

3. Trend Ahead the Trends

แน่นอนว่าผู้บริหารในหลายองค์กรหรือเจ้าของธุรกิจก็อาจจะเกิดคำถามว่า แล้วจะทำ ESG กันไปทำไม ในเมื่อเรามี CSR (Corporate Social Responsibility) กันอยู่แล้ว อีก แต่ในความเป็นจริงหากดูจาก Global Trend ปัจจุบันจะพบว่า Sustainability มันอาจจะไม่พออีกต่อไปแล้ว เพราะธรรมชาติหลายอย่างมันพังไปมาก จึงต้องมองไปถึง Trend ahead the trends ที่เป็น การฟื้นฟู (Regeneration) ขึ้นมาทดแทน ซึ่งก็จะแตกต่างและยกระดับจาก CSR ขึ้นไปอีก และกำลังจะเป็น Trend ในระดับโลกเลยก็ว่าได้

4H ก่อนเริ่มลงมือทำ ESG - Startup Thailand

ถ้าอยากเริ่ม ESG ต้องทำยังไงบ้าง?

1. Heart - มีหัวใจที่จะทำ

จุดเริ่มต้นของโครงการต่างๆ คือใจที่จะเริ่มทำอะไรบางอย่าง มันต้องมาจาก Passion เพราะหากองค์กรหรือผู้บริหารนั้นมองว่าการทำ ESG ก็ทำไปเพื่อทำเป็น report สู่สังคมแค่นั้น สิ่งที่ออกมามันก็จะเป็นแค่สิ่งพื้นฐานแบบที่หลายคนทำ เช่น ปลูกป่า, แยกขยะ มันก็จะเป็นการเสียทรัพยากรในการดำเนินงานแต่ไม่ได้ส่งผลในระยะยาว

2. Hand - มีกำลังลงมือทำ

นี่คือส่วนที่เราจะเปลี่ยน Passion ที่เรามีให้กลายมาเป็น Action หรือการลงมือทำ โดยทุกภาคส่วนขององค์กรจะต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสิ่งเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มคนที่อยู่หน้างานที่จะเห็นปัญหา และรู้จุดว่าควรปรับปรุงมากที่สุด คนเหล่านี้จะรู้ว่าเราจะต้องพัฒนา Product หรือ Service อย่างไรให้มีคนซื้อคนใช้ได้มากขึ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เหมาะสมตรงจุดก่อนที่จะไปถึงมือของผู้บริโภค

3. Head - มีความรู้มาต่อยอด

เพราะการพัฒนา Product จากคนในอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะสิ่งที่จะออกมานั่นมันยังต้องเหมาะสมกับตลาดหรือเกิด Market Fit ด้วย เพื่อทำให้รายละเอียดของโครงการนั้นสอดคล้องไปในเป้าหมายเดียวกันทุกด้านและตอบโจทย์กับตลาดด้วย เพื่อสร้าง Revenue และ Profit ให้กับองค์กรควบคู่กันไปด้วย

4. Home - มีเงินสร้างความยั่งยืน

ส่วนสุดท้ายก็คือการสร้าง Value Driven โดยอิงจากอุตสาหกรรมที่ธุรกิจตัวเองนั้นอยู่ ซึ่งในส่วนนึ้ก็จะโฟกัสที่การทำ Stakeholders Management เพื่อมองถึงผู้ที่ได้รับผลประโยชน์และผลกระทบใน Business Chain ของเราให้รอบด้าน และดูว่าสุดท้ายแล้ว สิ่งแวดล้อมและสังคมที่เราเกี่ยวข้องต้องการอะไร เพื่อพัฒนาสิ่งเหล่านั้นไปให้ตอบสนองความต้องการของทุกคนที่เป็น Stakeholders เป็นการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม และผลักดันไปสู่ Governance ที่จะมีกฏระเบียบต่างๆ ออกมาเพื่อช่วยเหลือธรรมชาติของโลกใบนี้ให้ดียิ่งขึ้น

โอกาสและความเสี่ยงกับเรื่อง ESG

ทุกวันนี้เกิดกลุ่มลูกค้าใหม่ที่เรียกกันว่า CnSR (Consumer Social Responsibility) หรือก็คือกลุ่มลูกค้าที่รับผิดชอบก่อนสังคม ทำให้ไม่ได้มีเพียงแค่ C: Corporate อีกต่อไปที่จะรับผิดชอบต่อสังคมได้ และ Cn:Consumer เองก็หันมาสนใจในเรื่องธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสังคมอยู่เช่นกัน ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มนี้ก็จะมองหาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แม้ว่าจะต้องยอมจ่ายเพิ่มเล็กน้อย แต่ก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในการรักโลก เช่น การเลือกซื้อสินค้าที่ระบุเป็น Organic หรือได้ตรารับรอง รวมถึงการลดการใช้ปริมาณพลาสติกด้วย

แน่นอนว่าคนกลุ่มนี้สร้างโอกาสให้กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ ได้อีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับตรารับรองต่างๆ ที่ไม่กระทบกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจนได้มาตรฐาน ก็จะมีอีก 1 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกซื้อ เลือกใช้ ซึ่งหากการทำ ESG นั้นสามารถนำไปใส่ในตัวผลิตภัณฑ์ได้โดยตรงจะเรียกว่าเป็น Direct Action ที่สร้าง Value ได้ในทันที โดยที่ไม่ต้องไปทำแค่ปลูกป่าหรือแยกขยะอีกต่อไป

ซึ่งหลายๆ แบรนด์เองในปัจจุบันก็เริ่มมองหาโอกาสจาก ESG มากขึ้น เพราะผลประโยชน์ที่อาจจะได้มากขึ้นจากการพัฒนาเหล่านี้ อย่างหลายธนาคารก็ให้ดอกเบี้ยกู้ในเรทที่ต่ำกว่า สำหรับธุรกิจที่มีปริมาณคาร์บอนในปริมาณที่ต่ำ หรือหลายๆ แบรนด์ก็พยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้เข้ากับ Climate Crisis ที่เกิดตอนนี้มากยิ่งขึ้น เพราะที่ผ่านมาสินค้าอย่างเสื้อผ้าของหลายๆ เจ้าต่างต้องประสบปัญหาครั้งใหญ่ เพื่อสภาพอากาศไม่เป็นไม่ตามฤดูกาล เช่น พอผลิตเสื้อกันหนาวมา แต่ไม่หนาวจริงก็ทำให้ของค้างสต็อกขายไม่ออกจำนวนมาก เป็นต้น

ในขณะเดียวกันความเสี่ยงก็เกิดขึ้นตั้งแต่การที่องค์กรไม่เริ่มทำอะไรแล้ว เพราะในขณะที่หลายๆ เจ้าเตรียมทำ ESG ไปข้างหน้า ในวันที่กลุ่ม CnSR เพิ่มขึ้นมาอีก จนกลายเป็น Trend โลกอย่างแท้จริง ธุรกิจที่ยังไม่เริ่มก็ยากที่ตามทัน ไม่ต่างอะไรจากช่วงเปลี่ยนผ่านของ Digital ที่ทิ้งให้ธุรกิจโลกเดิมทำงานได้ช้ากว่า ไม่มีข้อมูลขนาดใหญ่ให้นำมาใช้วิเคราะห์หรือช่วยในการตัดสินใจเท่ากับองค์กรที่เริ่มมาก่อนหน้า 10 ปีแล้ว

ทุกวันนี้หลายๆ แบรนด์ถูกต่อต้านจากกลุ่ม CnSR เนื่องจากการกระทำหลายๆ อย่างที่ไปกระทบต่อสภาพแวดล้อม และยิ่งในปัจจุบันที่มีตัวเลือก และสินค้าทดแทนมากมาย ผู้คนก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแบรนด์ที่ใช้ได้อย่างรวดเร็ว ถ้าแบรนด์เดิมที่มีอยู่ไม่ได้ตอบสนองต่อวิถีรักโลกของพวกเขาอีกต่อไปแล้ว ธุรกิจหลายๆ เจ้าจึงต้องยอมถอยเมื่อเกิดกระแสต่อต้านในสิ่งที่พวกเขาทำ ซึ่งนั่นก็จะทำให้เกิดต้นทุนที่สูงขึ้นไปอีก เพราะไม่ได้สนใจในเรื่อง ESG ตั้งแต่แรก


ESG กับแบรนด์จะไปด้วยกันได้อย่างไร สุดท้ายแล้วเป้าหมายในฝันของการทำ ESG ในแต่ละองค์กรก็จะอยู่ที่การพัฒนาในแบบที่มี Governance ในการสร้าง [รายได้ขององค์กรโตขึ้น+Environment Impact ลดลง+สร้าง Social ที่ดีขึ้น ทำให้สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นส่วนที่ชี้วัดว่าองค์กรทำ ESG สำเร็จได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งจะดูแค่แกนใดแกนหนึ่งไม่ได้ เพราะบางครั้งที่หลายองค์กร ทำรายได้ที่ดี มีภาพลักษณ์ที่ดีจากการช่วยรักษาธรรมชาติ มีผลิตภัณฑ์รักโลกเต็มไปหมดมากมาย แต่สุดท้ายออกมาด้าน Social ต่ำ เพราะใช้งานพนักงานเยอะให้ทำหลายอย่าง เพื่อให้เกิดความสำเร็จเหล่านี้ขึ้นมา ก็จะทำให้ผู้คนไม่มีความสุข ทั้งหมดนี้จะต้องมีการทำ Sustainbility Analytic เพื่อมอง Stakeholders ให้ครบรอบด้านมากขึ้นจากทั้งภายในและภายนอกองค์กร

การทำ ESG จะเป็นเกราะป้องกันความเสี่ยงให้กับธุรกิจ ก่อให้เกิดการพัฒนาต่างๆ ทั้งตัวเองและสิ่งรอบข้าง แบรนด์ที่ดีจะพัฒนา ESG ตามการเติบโตของ CnSR เพราะถ้าเราทำมากไปก็จะไม่มีใครสนใจ อย่าง 10 ปีก่อน หากพูดถึงหลอดกระดาษ หรือไม่ใช้หลอด ไปจนถึงบ้านรักโลก ก็จะเป็นเรื่องแปลกไม่มีคนยอมจ่ายเพื่อสิ่งเหล่านี้ ในขณะที่ในวันที่ CnSR โตขึ้นมาตาม สภาพสังคมจะกดดันแบรนด์และกำหนดกรอบของแบรนด์ให้สอดคล้องกับความต้องการของพวกเขามากขึ้น เพราะคนเชื่อว่าหากพวกเขาสนับสนุนแบรนด์ที่ดี มันจะนำไปสู่เรื่องสุขภาพ และความเป็นอยู่ให้กับพวกเขาได้ด้วย


ข้อมูลนี้จากงาน ESG To Capital For Tech Entrepreneurs วันที่ 10 พฤษภาคม 2567


Footer