Smart Finance คือนวัตกรรมของบริการทางการเงินที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล และเทคโนโลยีใหม่ ๆ บทความนี้จะชวนทุกท่านมองไปในอนาคตว่าความสามารถของเทคโนโลยี AI จะทำให้โลกของบริการทางการเงินนั้น smart ขึ้นอย่างไรและจะมีประโยชน์แก่องค์กรอย่างสถาบันการเงิน ได้อย่างไรบ้าง
เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, หรือ AI) คือเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นเพื่อจำลอง วิธีคิด ปัญญา การประมวลผลและกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ เพื่อให้คอมพิวเตอร์สามารถทำงานที่ต้อง อาศัยกระบวนความคิดแบบมนุษย์ได้ ไม่ว่าจะเป็น การรับรู้ผ่านการมองเห็น การรับรู้ผ่านการได้ยิน การจดจำ การเชื่อมโยง การประมวลผลข้อมูล การอนุมาน การคาดเดา การให้เหตุผล และการตัดสินใจ เป็นต้น
Machine Learning (ML) คือหนึ่งในเทคโนโลยีด้าน AI ที่สร้างมาเพื่อให้คอมพิวเตอร์สามารถเรียนรู้ ค้นหาวิธีแก้ปัญหา และคาดเดาผลได้ด้วยตัวเองจากข้อมูลที่กำหนดให้ และ Model ที่ได้มานั้น ยังจะต้องสามารถนำมาใช้งานกับข้อมูลชุดใหม่ที่ไม่เคยเจอมาก่อนได้อย่างถูกต้องด้วย ซึ่งในปัจจุบัน มีการนำไปใช้อย่างแพร่หลายในแทบจะทุกอุตสาหกรรม เช่น การคาดการณ์ยอดขายสินค้า, การแบ่ง segment ลูกค้า, ระบบ recommendation สินค้า หนัง หรือเพลง, ระบบจดจำเสียง จดจำใบหน้า ไปจนถึง การคาดการณ์การใช้พลังงานไฟฟ้า และการประเมินสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ Machine Learning ยังเป็นรากฐานของ AI Technology ที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันอีกจำนวนมาก เช่น Deep Learning หรือ Natural Language Processing เป็นต้น
Generative AI ก็เป็นอีกหนึ่งในเทคโนโลยีด้าน AI ที่ต่อยอดมาจาก Machine Learning เช่นเดียวกัน โดยถูกสร้างขึ้นมาให้มีความสามารถในการสร้างข้อมูลชุดใหม่จากข้อมูลที่ได้เรียนรู้มา โดยข้อมูลที่สร้างขึ้น ใหม่นี้จะมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับข้อมูลชุดเดิมที่ได้เรียนรู้มาด้วย ไม่ว่าข้อมูลจะเป็นข้อความ รูป วิดีโอ โน้ตดนตรี เสียงพูด ธุรกรรมการเงิน ข้อมูลการเดินทาง หรือข้อมูลอื่นๆ เช่น การสร้างข้อความใหม่จาก ข้อความจำนวนมากที่ได้เรียนรู้มา อย่าง ChatGPT, Llama หรือการสร้างรูปใหม่จากรูปจำนวนมาก ที่ได้เรียนรู้มา อย่าง MidJourney, Stable Diffusion เป็นต้น
ด้วยคุณสมบัติของปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถประมวลผลข้อมูลจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว เรียนรู้ข้อมูล สร้างและปรับ model ได้อย่างแม่นยำ มีความถูกต้องสูง วิเคราะห์หา insight ได้อย่างละเอียด จะเปลี่ยนโฉมหน้าของบริการทางการเงินไปโดยอย่างสิ้นเชิง ไม่ใช่แค่เร็วขึ้น หรือมีประสิทธิภาพมากขึ้น เท่านั้น แต่บริการทางการเงินที่นำเอา AI มาใช้อย่างเหมาะสม จะเป็น Smart Finance มากขึ้น จะมีการทำ personalization มากขึ้น และจะสามารถปรับตัวไปตามสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้แบบ real time มากยิ่งขึ้น คุณลักษณะที่สำคัญของ Smart Finance ที่มีการนำเอาเทคโนโลยี AI มาใช้ จะมีดังนี้
ด้วยการที่ AI สามารถประมวลผลข้อมูลจำนวนมาก ๆ ได้ และสามารถปรับและสร้าง model ใหม่ขึ้นมา ได้ด้วยตัวเองนั้น ทำให้ AI สามารถค้นพบ insight รวมทั้ง segment ใหม่ ๆ ของผู้ใช้บริการ ได้อย่างรวดเร็ว โดยอาศัยข้อมูลจำนวนมหาศาล จากหลากหลายแหล่งข้อมูล ไม่ว่าจะเป็น พฤติกรรมการ ซื้อสินค้า ไลฟ์สไตล์ ความเสี่ยงทางการเงินที่ยอมรับได้ เป้าหมายระยะสั้นกลางยาว กิจกรรมบนโลกออนไลน์ และการคาดการณ์ไปข้างหน้าถึง scenario ชีวิตที่เป็นไปได้ของลูกค้าแต่ละราย ไม่ว่าจะเป็น skill ที่เป็นที่ต้องการในอนาคต การย้ายงาน การสร้างครอบครัว ซึ่งทำให้ระบบ Smart Finance สามารถนำ insight ไป optimize model ของผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่ละคนได้อย่างเหมาะสมที่สุด เช่น หากพบว่าลูกค้ามีพฤติกรรมการใช้เงินที่ประหยัดอดออมและกำลังจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ระบบ AI ก็อาจจะไปสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นส่วนผสมของการออมเพื่อการลงทุนระยะสั้นผสมกลาง ควบคู่ไปกับเงินกู้เพื่อการศึกษาที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ โดย optimize ให้ผลตอบแทนเติบโตมากที่สุดในช่วง 4 ปี โดยนำเอาคาดการณ์รายได้จากการไปเรียนสาขาวิชาที่เป็นที่ต้องการในอนาคตมาประเมินร่วม เป็นต้น
การใช้งานระบบทางการเงินในปัจจุบัน จะเป็นแบบ instruction-based คือไม่ว่าระบบจะวางแผนมาให้หรือ ผู้ใช้วางแผนเอง สุดท้ายแล้วผู้ใช้ก็ต้องแปลงเป้าหมาย ที่ต้องการ ออกมาเป็นธุรกรรมย่อย ๆ แล้วค่อยส่งคำสั่ง (instruction) เหล่านั่นไปตามผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ เช่น คำนวณจำนวนเงินที่ต้องเก็บในแต่ละเดือน เพื่อโอนไปยังอีกบัญชีแล้วโอนอีกยอดไปยังอีกธนาคาร เพื่อซื้อกองทุนผ่านแอปพลิเคชันของโบรกเกอร์ ซึ่งมีความยุ่งยากซับซ้อนและไม่สะดวก เกิดความผิดพลาดได้ง่าย แต่ด้วยความสามารถของเทคโนโลยี AI ที่ผสมผสานกับระบบ Smart Finance ทำให้ผู้ให้บริการยุคใหม่สามารถให้ลูกค้าแค่บอกความต้องการ(intent) แล้วระบบจะเอาความต้องการไปวิเคราะห์เป็นเป้าหมายและ นำเอาเป้าหมายไปแยกแยะเป็นคำสั่งย่อย ๆ และวางแผนการทำธุรกรรมทุกอย่างให้ได้ตามความต้องการของลูกค้า เช่น หากลูกค้าต้องการทยอยออมเงินเพื่อการท่องเที่ยวทริปใหญ่ประจำปี แทนที่ผู้ใช้งานจะต้องมาคำนวณว่าจะต้องใช้เงินเท่าไหร่ แล้วหารออกมาเป็นยอดที่ต้องเก็บต่อเดือน ด้วยการให้บริการทางการเงินแบบ intent-based ลูกค้าก็เพียงแต่สั่งด้วยภาษาของตัวเองว่า ต้องการเก็บเงินเพื่อไปเที่ยวยุโรป 2 สัปดาห์ช่วงปลายปี ระบบที่มี AI สนับสนุนก็จะประเมินค่าใช้จ่ายโดยประมาณของทั้งทริป วางแผนการออมเงินและการลงทุนระยะสั้นให้ รวมถึงนำเสนอประกันการเดินทาง และวางแผนการแลกเงินในอัตราพิเศษให้โดยอัตโนมัติ หรือจะให้บอกระบบช่วยวางแผนการเงินของทริปนี้ร่วมกับครอบครัวหรือเพื่อนร่วมทางด้วยก็ยังได้
โดยการสื่อสารทั้งจากลูกค้าเข้ามาที่ระบบ และระบบกลับไปหาลูกค้า จะใช้ภาษาที่ลูกค้าใช้ในชีวิตประจำวัน (human-language) ซึ่งจะเข้าใจง่าย เลือกใช้คำอธิบายที่เหมาะสมกับความรู้ความเข้าใจด้านการเงินของลูกค้า ผ่าน visualization ต่างๆ เช่น รูป กราฟ ตัวอย่าง อินโฟกราฟฟิก หรือคลิปวิดีโอ ที่ช่วยให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจน ส่วนไหนที่ยังไม่เข้าใจก็สามารถถามให้ระบบอธิบายได้ซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกว่าจะเข้าใจ อยากปรับแผนเมื่อไหร่ก็บอกระบบได้ตลอดเวลา
Smart Finance จะทำให้บริการทางการเงินในอนาคต เปลี่ยนไปจากการที่ลูกค้าจะต้องทำอะไรซ้ำ ๆ ด้วยตัวเอง หาข้อมูลเอง ปรับแผนเอง ทำเองทุกอย่าง เป็น AI ช่วยทำงานซ้ำ ๆ ให้ทั้งหมดโดยอัตโนมัติ เช่น ถ้าทุกเดือน ต้องการแบ่งเงินเดือนออกเป็นส่วนย่อย ๆ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายทั่วไป จ่ายค่า streaming รายเดือน แบ่งเงินให้คุณพ่อคุณแม่ แบ่งไว้ท่องเที่ยวพักผ่อนปีหน้า แบ่งไว้ผ่อนบ้าน แบ่งไว้ลงทุน แล้วก็ต้องคอยนั่งกด โอนเงิน ต้องคอยบริหารการลงทุนว่าซื้อตัวไหน ขายตัวไหน มีกองทุนอะไรออกใหม่บ้าง bitcoin ราคานี้เข้าได้หรือยัง ทุก ๆ เดือนต้องทำสิ่งเหล่านี้ซ้ำ ๆ กันตลอด ด้วยเทคโนโลยี AI ลูกค้าสามารถกำหนด เป้าหมาย แล้วให้ AI ช่วยทำงานซ้ำ ๆ เหล่านี้ให้ รวมถึงช่วยปรับแผนการลงทุนไปตามสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ช่วยแนะนำเมื่อถึงเวลาที่สมควรจะ refinance ช่วยแนะนำโปรโมชั่นผ่อนจ่าย รวมถึงช่วยบริหาร cash flow ให้โดยอัตโนมัติอีกด้วย
การนำ AI มาใช้ ไม่ได้เพียงเปลี่ยนโฉมหน้าบริการ ทางการเงินสำหรับลูกค้ารายย่อยเท่านั้น แต่ยังทำให้ เกิด smart finance สำหรับลูกค้าองค์กรได้เช่นกัน ด้วย ระบบ capital allocation ที่จะช่วยบริหาร cashflow กับรายได้ ค่าใช้จ่าย ดอกเบี้ยและภาษีต่าง ๆ การจ่ายปันผล การทำ refinance หนี้ การนำเงิน ที่ยังไม่ได้ใช้ไปลงทุนระยะสั้น การประกันความเสี่ยง ค่าเงิน ร่วมกับการใช้ AI เข้ามาทำ financial projection ที่จะนำเอา data ต่าง ๆ จำนวนมาก มาร่วมกับคาดการณ์รายได้ รายจ่าย ดอกเบี้ย ในอนาคต หรือการนำเอา AI เข้ามาทำ In-depth Expense Management ที่จะวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งจากอดีตและปัจจุบัน เพื่อให้การเบิกจ่ายเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว เป็นอัตโนมัติ คาดการณ์ค่าใช้จ่ายในอนาคต ลดความผิดพลาดจากมนุษย์ และยังเอา data เหล่ามานี้มาหาความสัมพันธ์ เพื่อ identify ค่าใช้จ่ายที่ผิดปกติ หรือหา insight ที่จะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้
ในยุคที่โลกของการให้บริการทางการเงินกำลังก้าวเข้าสู่ยุค Smart Finance เช่นทุกวันนี้ การเอา AI เข้ามาใช้ไม่ได้เป็นแค่ตัวเลือกอีกต่อไป แต่คือการวางรากฐานใหม่ที่ทุกองค์กรต้องทำ ซึ่งการนำเอา AI มาใช้นั้น จะต้องรู้ลึกถึงข้อจำกัดและความเสี่ยง รู้ว่าจะเอามาปิดจุดอ่อน เสริมจุดแข็งให้องค์กรอย่างไร และจะต้องไม่มองว่า AI คืองานของแผนก IT แต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นงานที่ทั้งองค์กรและฝ่ายบริหาร จะต้องร่วมกันทำ ทั้งด้านแผนธุรกิจ เทคโนโลยี data infrastructure การดำเนินงาน ระบบงานภายในบริษัท ของแผนกต่าง ๆ รวมไปถึงการเตรียมพร้อมด้าน data governance และ ethics เพื่อการกำกับดูแล รวมถึง จะต้องมี strategy ที่ชัดเจนว่าเริ่มทดลองอย่างไร จะวัดผลอย่างไร และจะขยายผลอย่างไรต่อ และทั้งหมด จะต้องเชื่อมโยงและสนับสนุนกันเพื่อเป็น roadmap ระยะยาวด้าน AI เพื่อให้องค์กรพร้อมก้าวสู่การให้บริการ Smart Finance อย่างแท้จริงครับ
คุณสถาพน พัฒนะคูหา CEO – Guardian GPT